ปตท. Kick-off จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า 1 ต้นกล้า…สู่ป่าล้านที่ 2 เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดคาร์บอน ร่วมกับภาครัฐ เครือข่าย และชุมชนมากกว่า 450 คน ร่วมปลูกป่า 4,500 ต้น ณ แปลงปลูกป่า ปตท. จังหวัดลพบุรี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566
วันนี้ (8 ส.ค. 2566) – นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรม Kick-off “ปตท. จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า” 1 ต้นกล้า… สู่ป่าล้านที่ 2 ณ แปลงปลูกป่า ปตท. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายวชิระ เกตุพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ผู้บริหารและพนักงาน ปตท. หน่วยงานภาครัฐ เครือข่าย ปตท. รวมถึงเครือข่ายชุมชนในพื้นที่มากกว่า 450 คน ร่วมปลูกต้นไม้จำนวน 4,500 ต้น
นายอรรถพล เปิดเผยว่า “กิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ปตท. ในการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อน ปตท.
สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดย ปตท. ตั้งเป้าหมายปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ และความร่วมมือจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) และเมื่อรวมกับพื้นที่แปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ คาดว่าพื้นที่แปลงปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. กว่า
3 ล้านไร่ จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ปตท. ซึ่งจะมีศักยภาพในการดูดซับมากกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้ ผืนป่าที่ฟื้นฟูกลับมา จะทำหน้าที่ให้บริการทางนิเวศ (Ecosystem service) ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงช่วยสร้างทุนทางสังคมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี”
“ปตท. จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า” 1 ต้นกล้า… สู่ป่าล้านที่ 2 เป็นกิจกรรม Kick-off เริ่มต้นโครงการปลูกป่าอีก 1 ล้านไร่ ของ ปตท. จัดขึ้น ณ แปลงปลูกป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน 413 ไร่ ในความรับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี โดยในปีนี้ ปตท. กำหนดเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่ารวม 86,173 ไร่ทั่วประเทศ ควบคู่กับการนำแปลงปลูกขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ที่จะยกระดับการปลูกฟื้นฟูป่าให้มีมาตรฐานเป็นไปตามหลักวิชาการ
กิจกรรมวันนี้ ปตท. ได้จัดเตรียมพันธุ์ไม้พื้นถิ่นจำนวน 25 ชนิด อาทิ ประดู่ป่า พะยอม แดง มะค่าแต้ และตะแบก นำมาปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งรูปแบบการจัดงานยังเป็น Carbon Neutral Event ที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กิจกรรม เน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดย ปตท. ได้รวบรวมข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมทั้งหมด และจะนำคาร์บอนเครดิตของ ปตท. มาชดเชยเป็นจำนวน 45 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งนอกจากกิจกรรมปลูกฟื้นฟูป่าแล้ว ยังมีการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนให้คงอยู่ในพื้นที่ให้นานขึ้น รวมทั้งช่วยกระจายความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ปลูกป่า และเป็นประโยชน์ต่อกล้าไม้ที่ปลูกใหม่อีกด้วย
ตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา ปตท. ยึดมั่นพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ พร้อมให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเส้นทางการปลูกป่าของ ปตท. เริ่มต้นใน พ.ศ. 2537 เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้รัฐบาลหาแนวทางยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน โดยมีพระราชดำรัส “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า เนื่องจากทรงเห็นว่าป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายลงไปมาก ปตท. หรือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในขณะนั้น จึงรับอาสาปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) จำนวน 1 ล้านไร่ จนบรรลุเป้าหมายเมื่อ พ.ศ. 2545 รวมพื้นที่แปลงปลูกกว่า 1,043,230 ไร่ ใน 419 แปลงครอบคลุม 48 จังหวัดทั่วประเทศ
“ปตท. พร้อมสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยตระหนักเป็นอย่างดีถึงความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป็นองค์กรที่ดีของสังคมเน้นสร้างความโปร่งใสในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและกลุ่มธุรกิจใหม่ ควบคู่กับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล พร้อมจุดพลังและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมทั้งดูแลสังคมและทรัพยากรธรรมชาติ ให้เติบโตเคียงข้างกันไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายอรรถพล กล่าวในตอนท้าย