ปตท.แจ้งกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)แล้ว ว่าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG 1.5ล้านตันต่อปีของ กฟผ.จะทำให้มีปัญหาภาระเรื่อง take or pay ที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เนื่องจากดีมานด์การใช้ก๊าซในประเทศไม่เพิ่มขึ้น โดยสัญญานำเข้า LNG ของ ปตท.ในปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี ยังเพียงพอรองรับความต้องการ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ถึงนโยบายที่ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 8 ปี โดยเริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2562 นี้ ว่า ปตท.ได้มีหนังสือแจ้งถึงกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วว่า ความต้องการใช้ หรือดีมานด์ก๊าซภายในประเทศเพื่อการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากตามที่คาดการณ์ไว้ และยังคงมีการผลิตก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าได้ตามแผน รวมทั้งยังมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเสริมความต้องการ ทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณ LNG เพิ่มเติมไปจากสัญญาระยะยาวที่ ปตท.มีอยู่
ดังนั้นหากยังคงให้มีการนำเข้า LNG ล็อตใหม่ โดย กฟผ. จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ตามนโยบายดังกล่าว อาจจะทำให้ กฟผ.ไม่สามารถรับก๊าซตามสัญญาที่ทำไว้กับปตท.ได้ และอาจจะส่งผลให้เกิด Take or Pay คือแม้ไม่รับก๊าซ แต่ก็ต้องจ่ายตามเงื่อนไขในสัญญาที่กำหนดไว้อยู่แล้ว และภาระดังกล่าวอาจจะถูกนำไปคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวถือเป็นการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่รัฐบาลและรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่จะต้องพิจารณา โดยปตท.เพียงรายงานถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ทราบเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า การนำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ของ กฟผ.เป็นการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2560 อนุมัติหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยต้องการให้ กฟผ. เป็น Shipper จัดหา LNG รายใหม่ นอกเหนือจาก ปตท. และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือกบง.ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ กฟผ.ดำเนินการจัดหา LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2562 ในอายุสัญญา 4 – 8 ปี โดยที่ราคาจัดหาต้องไม่สูงกว่าราคาต่ำสุดของสัญญา LNG ระยะยาวของไทยในปัจจุบันที่นำเข้าโดย ปตท.
ซึ่งมีผลให้ กฟผ. ดำเนินการออกทีโออาร์เปิดประมูลให้เอกชนยื่นแข่งขันเสนอราคานำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ไปจนถึงปี 2569 โดย บอร์ด กฟผ. ซึ่งประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 รับทราบผลการประมูลที่ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จากบรรดาผู้แข่งขันทั้งหมด 12 ราย และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้ ที่ประชุม กบง. รับทราบในการประชุมเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2562 แต่ กบง.ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ จึงต้องรอนำเสนอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ในฐานะ ประธาน กบง. พิจารณาต่อไป