ปตท.เสนอแนวทางสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งให้องค์การเภสัชกรรมเช่าระยะยาว เน้นการผลิตยาที่ไม่มีปัญหาสิทธิบัตร หวังช่วยลดต้นทุนนำเข้ายาจากต่างประเทศ
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้า “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API)”ที่เป็นความร่วมมือระหว่างปตท.กับองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ว่า แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินการ คือการที่ปตท.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจปิโตรเคมีและการบริหารจัดการโรงงาน จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง แล้วให้องค์การเภสัชฯ ทำสัญญาเช่าโรงงานระยะยาว โดยที่ปตท.จะเป็นผู้บริหารจัดการโรงงานให้ ซึ่งสิทธิในความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และการจัดจำหน่าย จะยังเป็นขององค์การเภสัชฯเหมือนเดิม
นายวิทวัส กล่าวว่า ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ จึงเกิดเป็นความร่วมมือที่จะให้ปตท.เข้ามาช่วย โดยเป็นการผลิตเฉพาะยาที่ไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตร ที่จะทำให้ต้นทุนถูกลง ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังต้องรอการตัดสินใจจากองค์การเภสัชฯ ว่าจะให้ ปตท.ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งเมื่อใด หลังจากที่ได้เริ่มมีการพูดคุยกันระยะหนึ่งแล้ว และคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้
สำหรับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กับ ปตท. นั้นได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 ม.ค 2561 โดยองค์การเภสัชฯ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต 3 ชนิด คือ 1.ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด(Chemotherapy) ที่เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย 2. ยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และ3. ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง(Targeted Therapy)
พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี2568 จากช่วงแรกที่ยังเป็นการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศ