ปตท.เตรียมแผนสร้างคลังรับLNG ให้ได้ถึง 27ล้านตันต่อปีในอนาคต

1015
- Advertisment-

ปตท.เตรียมแผนสร้างคลังก๊าซฯ รองรับ LNG ให้ได้ถึง 27 ล้านตันต่อปีในอนาคต จากที่ภายในปี2565 มีขีดความสามารถที่จะรองรับได้ 19ล้านตันต่อปี  โดยมองว่าก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเขื้อเพลิงหลักของประเทศในการผลิตไฟฟ้า  ตามแผนPDP2018

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2019 ในหัวข้อ “แผนพลังงานไทยภายใต้ Disruptive Technology”ว่า ปตท.ได้ปรับตัวรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันก๊าซฯสามารถแปลงเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และสามารถขนส่งได้สะดวกขึ้น  รวมทั้งยังมีแนวโน้มราคาที่ถูกลงด้วย

โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ( PDP 2018) ที่กำหนดสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้าถึง 53% ทำให้ในช่วง 10-20 ข้างหน้า ก๊าซฯจะยังเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญของไทยในการผลิตไฟฟ้า

- Advertisment -

นายวุฒิกร กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายLNG โดยปัจจุบัน ปตท.มีคลังรับจ่ายLNGแห่งที่ 1รองรับ 11.5 ล้านตันต่อปี และคลังแห่งที่2 รองรับ 7.5 ล้านตันต่อปีทำให้ในปี2565 จะรองรับLNGถึง 19 ล้านตันต่อปี และคลังแห่งที่3 จะรองรับได้เฉลี่ย 5-8 ล้านตันต่อปี รองรับในอนาคตได้ถึง 27 ล้านตันต่อปี ส่วนคลังแห่งที่ 3 จะเริ่มรับก๊าซฯในปีใดนั้น ยังต้องรอการพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมจากภาครัฐอีกครั้ง

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในยุค Disruptive Technology ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอด โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เช่น ยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ( Smart Grid) การสนับสนุนการพัฒนาระบบ ISS เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลังงานในอาเซียน

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า ส.อ.ท.พยายามให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต การบริการและการขนส่ง ทั้งด้านพลังงาน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา เพราะนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลก

Advertisment