ปตท.เดินหน้านำความเย็นจากLNG ใช้ประโยชน์ในโรงแยกก๊าซตอบโจทย์ลดโลกร้อน

1000
- Advertisment-

ปตท. เดินหน้าสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯเป็นศูนย์ สนองนโยบายรัฐลดโลกร้อน ล่าสุดจับมือบริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ตั้ง บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (MAP) สำหรับแยกอากาศเป็นก๊าซที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในอาเซียน ใช้ความเย็นจากการแปลงสภาพก๊าซ LNG มาใช้แทนไฟฟ้า ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯถึง 300 ตันต่อวัน ชี้ลูกค้าสามารถใช้เป็นช่องทางยืนยันคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (MAP) ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ได้จัดสัมมนาหัวข้อ The Shape of Future: Utilization of LNG Cold Energy in ASU towards Net-zero Emissions เพื่อชี้ให้เห็นถึงการนำความเย็นจากกระบวนการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)มาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและช่วยลดภาวะโลกร้อน

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มนำเข้า LNG มาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศที่สูงขึ้น ซึ่งกระบวนการนำเข้า LNG ทางเรือในสภาพของเหลว ก่อนจะนำมาใช้ต้องแปลงสภาพกลับให้กลายเป็นก๊าซฯ เพื่อส่งตามท่อก๊าซฯให้ผู้ใช้ต่อไป ซึ่งในกระบวนการแปลงสภาพก๊าซฯ จะเกิดความเย็นถึง 15 องศา ดังนั้น ปตท.จึงได้ร่วมกับบริษัท BIG ตั้งบริษัท MAP เพื่อนำความเย็นดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการสร้างโรงแยกอากาศเพื่อให้ได้ก๊าซที่สามารถจำหน่ายให้ภาคอุตสาหกรรมได้ รวมทั้ง ปตท.ยังนำความเย็นที่ได้จากกระบวนการแปลงสภาพ LNG มาปลูกไม้เมืองหนาวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชเมืองหนาว ในตราสินค้า Haru Miki ที่กำลังจะเปิดร้านครั้งแรกในพื้นที่สำนักงานใหญ่ ปตท. เดือน ม.ค. 2565 นี้

- Advertisment -

ทั้งนี้การใช้ประโยชน์จากความเย็นดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดภาวะโลกร้อน และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตมากขึ้น ซึ่ง ปตท. พร้อมสนับสนุนภาครัฐลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดย ปตท. มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฯให้ได้ 15% ภายในปี ค.ศ. 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. คือ Powering life with Future Energy and Beyond หรือ การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยการมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ BIG กล่าวว่า ปตท. และ BIG ได้จับมือกันตั้ง บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ MAP ขึ้นและเพิ่งเริ่มดำเนินงานเมื่อเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโรงแยกอากาศ เพื่อผลิตก๊าซไนไตรเจน,ออกซิเจน และอาร์กอน ที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ทั้งนี้ MAP ได้นำความเย็นจากกระบวนการแปลงสภาพก๊าซ LNG มาใช้ในกระบวนการแยกอากาศ แทนการใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้กระบวนการผลิตของ MAP มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 ให้ได้ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2015 และผลักดันให้ไทยก้าวสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net-zero Emissions)

นอกจากนี้ลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ก๊าซต่างๆ จาก MAP จะมีส่วนช่วยลดคาร์บอนฯ และในอนาคตจะกลายเป็นผู้ตรวจสอบและยืนยัน ด้านการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำไปยืนยันกับทางยุโรปได้ว่ากระบวนการผลิตได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินค้าของลูกค้าต่อไป

นายพงษ์ศักดิ์ เหลืองจินดารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า MAP ได้แยกอากาศ เป็นก๊าซที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมและจำหน่ายให้กับโรงงานที่มีความต้องการใช้ เช่น 1. ไนโตรเจน ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อาหารแช่แข็งและอุปกรณ์ IOT อิเล็กทรอนิกส์ 2.ออกซินเจน รองรับความต้องการทางการแพทย์ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตได้ถึง 300 ตันต่อวัน ซึ่งเพียงพอรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอนาคตได้ และ3.อาร์กอน ที่จำเป็นต่อผู้ผลิตยานยนต์และอากาศยาน

สำหรับกระบวนการผลิตของ MAP ที่ใช้ความเย็นจากการแปลงสภาพ LNG มาแยกอากาศเพื่อให้ได้ก๊าซที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวแทนการใช้ไฟฟ้านั้น ช่วยให้ MAP ลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 20% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ถึง 3 หมื่นตันต่อปี และถือเป็นโรงแยกอากาศแห่งแรกของไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวด้วย

Advertisment