ปตท.สผ. เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซจี 1/61 บรรเทาผลกระทบต้นทุนพลังงานให้ประชาชน

489
- Advertisment-

ปตท.สผ. เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน พร้อมส่งรายได้ให้กับรัฐประมาณ 42,000 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในรอบครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทมีความคืบหน้าการดำเนินงานทั้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและธุรกิจใหม่ โดยสามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) ขึ้นมาอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายไตรมาส 2 ตามแผนงาน เพื่อสนองตอบต่อแนวทางของภาครัฐในการลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน รวมทั้ง ยังเร่งการเจาะหลุมผลิต และติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 แท่นภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต

นอกจากนี้ บริษัทได้ชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบที่ 24 อีก 2 แปลง ได้แก่ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว หากค้นพบแหล่งปิโตรเลียม จะสามารถผลักดันการพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ในอนาคต

- Advertisment -

ด้านความคืบหน้าการลงทุนในธุรกิจใหม่ ปตท.สผ. และ 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำระดับโลกได้ชนะการประมูลสัมปทานการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในแปลงสัมปทาน Z1-02 รัฐสุลต่านโอมาน โดยตั้งเป้าผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 ที่อัตราประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในการเดินหน้าพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคตซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 ผ่านการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม รวมถึงการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2566 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 148,932 ล้านบาท) มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 452,799 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 446,519 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทจึงมีกำไรสุทธิ 1,180 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 40,321 ล้านบาท) และยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ไว้ที่ 26.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 75

จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 16 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 29 สิงหาคม 2566

ปตท.สผ. สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง โบนัสการผลิต และผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 42,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

Advertisment