ปตท.สผ. เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 กำไรสุทธิ24,172 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 3,572 ล้านบาท พร้อมเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซในแหล่งจี1/61
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า
ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2565 มีรายได้รวม 2,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 95,292 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 148 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับรายได้รวม 2,469 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 84,955 ล้านบาท) ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
โดยในไตรมาส 3 ปตท.สผ. มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 478,323 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 465,459 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาสที่แล้ว โดยหลักมาจากโครงการจี 1/61 หลังจากเข้าเป็นผู้ดำเนินการเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งได้เพิ่มปริมาณการผลิต รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับลดลงจาก 55.61 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 53.68 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก
ในไตรมาสที่ 3 นี้ บริษัทมีผลกำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 94 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,415 ล้านบาท)
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ในไตรมาส 3 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 664 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 24,172 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 64 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีกำไรสุทธิ 600 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,572 ล้านบาท) และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ ร้อยละ 76 ซึ่งเป็นตามที่คาดการณ์ไว้
โดย ปตท.สผ. ได้นำรายได้ส่งให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
สำหรับการขยายการลงทุนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ ปตท.สผ. ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัทในอนาคต อีกทั้ง ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยหลักมาจากการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ในเดือนมีนาคมปีก่อน
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อเร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน)
ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน หลังจากวันที่ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินงานในปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมานั้น ปตท.สผ. ได้ทำการเจาะหลุมผลิตไปแล้ว จำนวน 10 หลุม และติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) เสร็จสิ้นไปแล้ว 4 แท่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งแท่นหลุมผลิตอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และได้เพิ่มแท่นเจาะ (Rig) เพื่อเจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 70 หลุมภายในปี 2565 นี้ รวมทั้งกำลังเร่งก่อสร้างแท่นหลุมผลิตใหม่อีก 4 แท่น ซึ่งมีความคืบหน้าไปเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้
ซึ่งในระหว่างที่กำลังเร่งพัฒนาโครงการจี 1/61 นั้น ปตท.สผ. ได้เพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) รวมอีกประมาณ 200 – 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้กับประชาชนและประเทศ