ปตท.​สผ.-เชฟรอน​ คว้าสิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียม​รอบที่​ 24​ ภายใต้ระบบ​ PSC

1085
- Advertisment-

ครม.ไฟเขียว 2 ยักษ์ใหญ่ ปตท.สผ.​ -​เชฟรอน​ คว้าสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม​ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต​ (PSC)​ ในการประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย​รอบที่​ 24​ โดยคาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนภายในประเทศในช่วงของการสำรวจกว่า​ 1,500​ ล้านบาท

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ เมื่อวันที่​ 7​ มี.ค.​ 2566​ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต( Production Sharing Contract -​PSC​)​สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515 ตารางกิโลเมตร​

ส่วนบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65​ ขนาดพื้นที่รวม​ ประมาณ 15,030 ตารางกิโลเมตร

- Advertisment -

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าว

ทั้งนี้การเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบล่าสุด​ ที่เรียกว่ารอบที่ 20 เกิดขึ้นตั้งแต่ปี​ 2550​ โดยมีแปลงสำรวจทั้งหมด​ 65​ ​แปลง​ (บนบก​ 56 แปลง ในอ่าวไทย​ 9 แปลง)​ แต่มีผู้ได้รับสิทธิ​จำนวน​ 28​ แปลง​ ( บนบก​ ​​21​ แปลง​ ในอ่าวไทย​ 7​ แปลง)​ ปัจจุบันยังเหลือแปลงที่มีการผลิตอยู่​ เพียง​ 2​ แปลงคือ​ แปลง G7/50 และ​ แปลงที่ 68/50

ด้าน​ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า
” ปตท.สผ. มีความยินดีที่เราชนะทั้ง 2 แปลงที่ยื่นประมูล ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับแปลง G1/61 และ G2/61 ที่เราเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทย”

ในขณะที่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ประกาศความพร้อมในการลงทุนสำรวจ​แปลงที่ได้รับสิทธิ

นายรณรงค์ ชาญเลขา กรรมการ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด

โดยนายรณรงค์ ชาญเลขา กรรมการ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) ยินดีที่ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐให้เป็นผู้รับสัญญาของแหล่ง G2/65 ซึ่งการร่วมขอเป็นผู้รับสิทธิในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการเดินหน้าภารกิจส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น อย่างปลอดภัย และเชื่อถือได้ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป ดังที่ได้ดำเนินงานมากว่า 6 ทศวรรษ”

“ด้วยการผสานความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านธรณีวิทยาของอ่าวไทย เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เชฟรอนเชื่อมั่นว่าเราสามารถพัฒนาปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050)” นายรณรงค์ กล่าว

Advertisment