ปตท.สผ. อีดี เผยเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ล่าช้าจากแผนแล้ว หวั่นกระทบการผลิตก๊าซตามสัญญา

872
- Advertisment-

ปตท.สผ. อีดี เผย ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ได้ตามแผนงาน โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติป้อนให้กับประเทศ ทั้งที่ บริษัทยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่ ตามที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณต้องการแล้วก็ตาม

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ชนะการประมูลในโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น ปตท.สผ. ได้พยายามประสานงานกับผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณมาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อ ปตท.สผ. อีดี เข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในปี 2565

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เพื่อให้ ปตท.สผ. อีดีเข้าสำรวจพื้นที่เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการดังกล่าว แม้ว่า ปตท.สผ. อีดี จะพยายามสรุปการทำข้อตกลงเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563  โดยเข้าดำเนินการในพื้นที่ที่จะไม่กระทบต่อการผลิตของผู้รับสัมปทานปัจจุบัน รวมถึงยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดในการเข้าพื้นที่ ตามที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันต้องการ เช่น การรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของ ปตท.สผ. อีดี เป็นต้น

- Advertisment -
พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.

“ปตท.สผ. มีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 มาโดยตลอด โดยอยากขอโอกาสที่จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน ร่วมกับการประสานงานจากทางหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมองว่าความร่วมมืออย่างจริงใจจากทุกฝ่ายเป็นการทำโดยยึดผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งการที่ ปตท.สผ. ยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่ตามที่ผู้รับสัมปทานรายปัจจุบันเสนอมา ถือเป็นการแสดงความจริงใจในการพยายามที่จะรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่การเจรจาไม่เป็นผล ซึ่งการที่ ปตท.สผ. ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ จะมีผลกระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศ” นายพงศธร กล่าว

 ทั้งนี้ ปตท.สผ. อีดี ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเป็นผู้ดำเนินการโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ภายหลังสัญญาสัมปทานของทั้งสองแหล่งสิ้นสุดในปี 2565-2566 โดยในส่วนของแหล่งเอราวัณนั้น บริษัทได้เตรียมแผนการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามสัญญาไม่น้อยกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับโครงการ G1/61 นั้น ปตท.สผ. อีดี ได้ร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานด้วยว่า หาก ปตท.สผ. อีดี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ ) ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามสัญญาไม่น้อยกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็จะต้องให้ฝ่ายกฏหมายเข้ามาตรวจสอบในรายละเอียดของสัญญาที่ตกลงไว้ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับภาระความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ในส่วนของภาครัฐ

Advertisment