ปตท.สผ. ปรับงบลงทุน 5 ปี เป็น 6.85 แสนล้านบาท รับแผนซื้อกิจการและสิทธิบริหารแหล่งก๊าซฯ

608
- Advertisment-

ปตท.สผ. ปรับงบลงทุน 5 ปี (62 – 66) เพิ่มเป็น 6.85 แสนล้านบาท พร้อมเพิ่มเป้าหมายการขายปิโตรเลียมในปี 62 เป็น 3.45 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หลังประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการและได้รับสิทธิดำเนินงานในแปลงสัมปทานต่าง ๆ  เดินหน้าการเปลี่ยนผ่านสิทธิเพื่อดำเนินการจากการเข้าซื้อกิจการและในแหล่งก๊าซฯ ที่ชนะประมูล เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม รองรับการเติบโตในระยะยาว

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ทบทวนแผนการลงทุนของปี 2562 ให้สอดคล้องกับแผนงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) ในอ่าวไทย, การชนะการประมูลและได้รับสิทธิในแปลงสำรวจปิโตรเลียมทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และมาเลเซีย, การเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 33.8 ในบริษัท อพิโก แอลแอลซี จากบริษัท เทเท็กซ์ ไทยแลนด์

โดยได้ปรับประมาณการรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 3,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 116,246 ล้านบาท จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 3,256 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 107,453 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมรายจ่ายในการเข้าซื้อกิจการอีกประมาณ 2,086  ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 67,795 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้ปรับแผนการลงทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 โดยปรับประมาณการรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 21,354 ล้านดอลลาร์ฯ เทียบเท่า 685,143 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 16,105 ล้านดอลลาร์ฯ  หรือประมาณ 525,055 ล้านบาท

- Advertisment -

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ปรับเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Average petroleum sales volume) ในปี 62 เพิ่มขึ้นเป็น 345,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 318,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.5 และปรับเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันของปี 62 – 66 เช่นกัน โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้น (Compounding Annual Growth Rate : CAGR) ประมาณร้อยละ 7

“ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามกลยุทธ์เชิงรุก Expand โดยสามารถเข้าซื้อกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังชนะการประมูลแปลงสัมปทานในต่างประเทศได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้ต่อจากนี้จะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Execute โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transition of Operations) ของแหล่งเอราวัณ และโครงการอื่น ๆ ที่เข้าซื้อกิจการให้เป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงเร่งรัดการสำรวจในโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตในอนาคต” นายพงศธร กล่าว

Advertisment