ปตท.ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซกับโรงไฟฟ้า540 MW ของ NPS แล้ว

1604
- Advertisment-

ปตท. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้า ขนาด 540 เมกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS แล้ว ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ RATCH และคาดว่าจะสามารถลงนามกันได้ต่อไป

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือ GSA กับโครงการโรงไฟฟ้า IPP IP2 ขนาด 540 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) ซึ่งมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2570 เรียบร้อยแล้ว และเป็นไปตามกลไกปกติภายหลังจากที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แล้ว

สำหรับการลงนามสัญญา GSA กับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)นั้น  ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ RATCH คาดว่าจะสามารถลงนามกันได้ต่อไป ซึ่งในประเด็นที่ RATCH เป็นห่วงนั้น ปตท.ได้หารือกับ RATCH แล้วว่า กรอบคุณภาพก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าในฝั่งตะวันตก เป็นไปตามความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสอดคล้องกับคุณภาพก๊าซฯ จริงที่จ่ายให้โรงไฟฟ้าข้างเคียง เนื่องจากมีการขนส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเดียวกัน และราคาก๊าซธรรมชาติ เป็นราคาเดียวกับที่ ปตท. จำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้า IPP ทุกราย และอยู่ภายใต้การกำกับของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กกพ. โดยเชื่อว่า RATCH รับทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว เนื่องจากโรงไฟฟ้า IPP แต่ละรายจะต้องมีการยืนยันแหล่งการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่ชัดเจนก่อนการลงนาม PPA

- Advertisment -

นายวุฒิกร กล่าวถึงประเด็นการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2564  ปริมาณการจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศ และตามสัญญาที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญาซื้อ LNG ระยะกลางและระยะยาวเพิ่มเติม อีกทั้งการใช้ก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศที่มีราคาต่ำกว่า จะเป็นการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า สร้างรายได้ให้รัฐจากค่าภาคหลวงและภาษี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความจำเป็นก็สามารถซื้อ LNG แบบตลาดจร หรือ SPOT ซึ่งราคาต่ำกว่าการจัดทำสัญญาซื้อ LNG ใหม่
นอกจากนี้ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ปตท. อยู่ระหว่างเสนอแผนขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากโรงไฟฟ้าบางปะกง ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาตินครราชสีมา ไปยังโรงไฟฟ้าน้ำพอง รวมทั้ง พิจารณาทบทวนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ หรือ FSRU ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามความจำเป็น ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกระทรวงพลังงานและ กฟผ. ต่อไป

Advertisment