ปตท.ร่วมมือชุมชนกำแพง จ.ร้อยเอ็ดเพาะกล้าไม้ 1.3แสนต้นหวังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทุ่งกุลาฯ

1413
- Advertisment-

ปตท.วางแผนร่วมกับชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ ต.กำแพง อ.เกษตรพิสัย จ.ร้อยเอ็ด เพาะพันธุ์กล้าไม้อีก 132,500 ต้น ส่งมอบในปี 2563 เพื่อปลูกเป็นป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว กว่า2,200ไร่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้พร้อมเตรียมสร้างป่าต้นแบบ อีก 120 ไร่ รองรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ป้อนการดำเนินงานปลูกป่าในระยะยาว

นางดวงใจ นิระขัน ประธานชุมชนกลุ่มผลิตกล้าไม้ ต.กำแพง อ.เกษตรพิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้กล่าวว่า ตำบลกำแพง ในฐานะชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ หรือ Zero Carbon Community ได้ร่วมกับสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จัดทำแผนการเพาะกล้าไม้ จำนวนกว่า 132,500 ต้นกล้า มูลค่าประมาณ 660,000 บาท เพื่อปลูกป่าในปี 2563 ประมาณ 550 ไร่ และซ่อมแซมบำรุงป่าเดิม อีก 300 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูฝนนี้  ซึ่งจะทำให้จำนวนพื้นที่ป่าในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ที่สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.ร่วมปลูกกับชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2557 เพิ่มจำนวนพื้นที่จาก 1,730 ไร่ เป็น 2,280 ไร่ในปีหน้า

ส่วนหนึ่งของกล้าไม้ที่ชุมชนมีการเพาะเอาไว้

โดยกล้าไม้ต่างๆที่จัดเตรียมจะประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่นชนิดต่างๆ รวมถึงไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ พะยูง แดง ยางนา ประดู่ ตะเคียน มะค่าโมง พะยอม สัก ขี้เหล็ก สะเดา หว้า มะขาม แคนา คูน จามจุรี ทองกวาว เป็นต้น โดยชุมชนได้รับการฝึกอบรมจาก ปตท.มาตั้งแต่ ปี 2561 ให้รู้จักแม่ไม้ การเก็บและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ไม้ การเพาะเมล็ด การเพาะชำกล้าไม้ การจัดการเรือนเพาะชำกล้าไม้ ทำให้เกิดประสบการณ์ และความชำนาญ จนมีสมาชิกกลุ่มเกือบ 20 ครัวเรือน ที่รวมตัวกันเพาะกล้าไม้ทั้งในครัวเรือน และในโรงเพาะกล้า ซึ่งกิจกรรมนี้  ได้สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ในการดำเนินงานสร้างรายได้เป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

- Advertisment -

“ที่สำคัญ ยังได้เตรียมพื้นที่ปลูกป่าต้นแบบ ประมาณ 120 ไร่ ให้เป็นป่าตัวอย่างของชุมชน ที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ไม้ให้กับการผลิตกล้าไม้ในระยะยาว ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของกลุ่มมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นางดวงใจกล่าวเสริม

สำหรับในปี 2562 นี้ ชุมชนได้จำหน่ายกล้าไม้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ให้กับประชาชนทั่วไป ที่สนใจนำไปปลูกในพื้นที่ส่วนบุคคลแล้ว กว่า 60,320 กล้า สร้างรายได้ถึง 383,900 บาท  ทั้งยังเตรียมกล้าไม้ไว้แล้วกว่า 100,000 กล้า เพื่อส่งมอบให้กับ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. นำไปปลูกป่าและซ่อมพันธุ์ไม้ มูลค่าประมาณ 650,000 บาท ทั้งนี้โครงการปลูกป่าของ ปตท. มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องมายาวนาน

นางดวงใจ กล่าวด้วยว่า การจำหน่ายกล้าไม้นี้ นอกจากสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ชุมชนจะนำเงินประมาณร้อยละ 30 ของผลกำไร เข้าสะสม ใน  “กองทุนเพื่อการพัฒนา ดิน น้ำ ป่า และคุณภาพชีวิต ตำบลกำแพง” และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปเป็นทุนในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนต่อไป

Advertisment