ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในสัปดาห์ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปลายสัปดาห์ราคา ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนวิตกต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มตึงตัว หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corp.: NOC) ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ในการส่งมอบน้ำมันจากท่าเรือหลายแห่ง รวมถึงแหล่งผลิต จากปัญหาการประท้วงเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับสหภาพแรงงาน Lederne ในนอร์เวย์ประกาศจะหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 65 เว้นแต่จะสามารถเจรจาค่าจ้างสำเร็จ ขณะที่ญี่ปุ่นอาจเผชิญวิกฤติพลังงาน หลังเผชิญคลื่นความร้อน อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศ ทำให้อุปสงค์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินคาด อย่างไรก็ตามนักลงทุนบางส่วนกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- 30 มิ.ย. 65 NOC ของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัยในการส่งมอบน้ำมัน ที่ท่าส่งออก Es Sider (350,000 บาร์เรลต่อวัน), Ras Lanuf (200,000 บาร์เรลต่อวัน), Brega (10,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Zueitina (150,000 บาร์เรลต่อวัน) รวมถึงแหล่งผลิต El Feel (90,000 บาร์เรลต่อวัน) ทั้งนี้ลิเบียผลิตน้ำมันในเดือน พ.ค. 65 ที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน
- สหภาพแรงงาน Lederne ในนอร์เวย์ประกาศจะหยุดงานประท้วง เพื่อขอเพิ่มค่าจ้างตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลดลง 130,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 6.5% ของการผลิตปัจจุบัน (ประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลง 34.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (mcmd) หรือประมาณ 10.6% ของปริมาณการผลิตปัจจุบัน (ประมาณ 327 mcmd)
- กระทรวงพลังงานเอกวาดอร์แถลงว่าปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง 1.86 ล้านบาร์เรลในช่วงการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี Guillermo Lasso โดยผู้ประท้วงปิดล้อมแหล่งผลิต ตั้งแต่ 13 มิ.ย. 65 คิดเป็นส่วนของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petroecuador ที่ 1.47 ล้านบาร์เรลต่อวันและผู้ผลิตเอกชน ที่ 385,000 บาร์เรล ต่อวัน ทั้งนี้ก่อนการประท้วงเอกวาดอร์ผลิตน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
–
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 30 มิ.ย. 65 ที่ประชุมกลุ่ม OPEC+ มีมติให้ประเทศสมาชิกดำเนินการตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ในการประชุมครั้งก่อน คือเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 65 รวมที่ระดับ 648,000 บาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในปี 2565 อยู่ที่ +2.9% จากปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในเดือน เม.ย. 65 ที่ +3.7% เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าเดิม
–