ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 1 ก.ย. 2566 ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ (ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ออกไปจนถึงเดือน ต.ค. 2566 จากเดิมในช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย. 2566 ขณะที่รัสเซียจะขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบออกไปจนถึงเดือน ต.ค. 66 เช่นกัน และอาจจะขยายเวลาลดการผลิตออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 2566 ปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ก.ย. 2566 ปริมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
พายุเฮอริเคน Idalia (ระดับ 3: ความเร็วลมสูงสุด 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนผ่านรัฐ Florida ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท Chevron ต้องอพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Platforms) แถบ Gulf of Mexico (GoM) บางส่วน โดย Reuters คาดว่าจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ GoM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของกำลังผลิตรวมในสหรัฐฯ
ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (Core Personal Consumption Expenditure: PCE) ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งใช้วัดภาวะเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters ที่คาดว่าจะอยู่ที่ +4.2% จากปีก่อน ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 88% ที่ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนัก 12% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ภาคการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 49.7 จุด รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง
คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล