ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (Department of Energy: DOE) ประกาศซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ต.ค. – พ.ย. 66 เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ทั้งนี้ในเดือน มี.ค. 66 DOE ได้ประกาศจัดซื้อน้ำมันดิบเข้าคลัง SPR ไปแล้วปริมาณรวม 3.2 ล้านบาร์เรล สำหรับส่งมอบในเดือน ก.ย. 66 ที่ราคา 71.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบใน SPR สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 66 ปริมาณ 347 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2526 โดยคาดว่าในปี 2566 จะเข้าซื้อทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาร์เรล
ทางด้านเศรษฐกิจ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI ที่บ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ) ในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ +0% จากปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ +0.2% จากปีก่อน (เดือน พ.ค. 66 อยู่ที่ +0.2% จากปีก่อน)
จับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือน มิ.ย. 66 เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ภายในปี 2566 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed สูงถึงระดับ 5.50-5.75%
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ประกาศขยายระยะเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ก.ค. 66 ออกไปจนถึงเดือน ส.ค. 66 ทำให้ซาอุดีอาระเบียจะผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. – ส.ค. 66 ที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Alexander Novak ประกาศลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 66
- Reuters รายงานว่ารัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลงจากเดือนก่อน 10% อยู่ที่ 3.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 66 อย่างไรก็ตามยังอยู่เหนือระดับ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนเกิดสงครามในยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 65
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 209,000 ราย (นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ +225,000 ราย จากเดือนก่อน) ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงจากเดือนก่อน 0.1% อยู่ที่ 3.6%
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักวิเคราะห์ Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในไตรมาส 3/66 ลง อยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เดิม 77.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) และไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เดิม 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เนื่องจากอุปทานจากกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะอิหร่านและเวเนซุเอลาเพิ่มสูงขึ้น
- OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2567 จะเติบโตประมาณ 1.5 – 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน นำโดยอุปสงค์น้ำมันจากเอเชีย อาทิ จีน และอินเดีย อย่างไรก็ดี จะเติบโตน้อยกว่าปี 2566 เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กดดันเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน (รายงานฉบับเดือน มิ.ย. 66 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน อยู่ที่ 101.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน)