ปตท. รายงานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น หลังจีนปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ

111
- Advertisment-

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยวันที่ 20 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate: LPR) ระยะเวลา 1 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 3.55% และ 5 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 4.20% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี Reuters รวบรวมคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 2566 จากวาณิชธนกิจชั้นนำล่าสุดอยู่ในช่วง 5.1-5.7% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมในช่วง 5.5-6.3% จากปีก่อนหน้า (เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 5% จากปีก่อนหน้า) สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง

ขณะที่วันที่ 20-21 มิ.ย. 66 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเพดานที่ +2% จากปีก่อนหน้า สะท้อนว่าที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00 -5.25% เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ยังมิใช่จุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินตึงตัว (Tightening) และวันที่ 22 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% มาอยู่ที่ 5.0% ปรับขึ้นต่อเนื่อง 13 ครั้งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ วันที่ 24 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ก่อกบฏโดยยึดครองกองบัญชาการทหารในเมือง Rostov-on-Don ทางตอนใต้ของรัสเซีย และจะเคลื่อนพลสู่กรุง Moscow อย่างไรก็ดี วันที่ 25 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ล้มเลิกภารกิจ พร้อมถอนกำลังจากเมือง Rostov-on-Don โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้นาย Yevgeny Prigozhin ผู้นำกองกำลัง Wagner ไม่ต้องถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ และนำกองกำลังลี้ภัยไปอยู่เบลารุสแทน ทั้งนี้ รัสเซียยังคงใช้มาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุง Moscow โดยประกาศให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 26 มิ.ย. 66

- Advertisment -

จึงต้องติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระยะสั้น โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • วาณิชธนกิจ HSBC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ในปี 2566 ว่าจะอยู่ที่ +5.3% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า) จากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง
  • S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 2.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 46.3 จุด ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
  • 21 มิ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ภายในปี 2566

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • Bloomberg รายงานว่ารัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 66 ลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานว่าซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลงประมาณ 3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 7.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และผลิตน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Advertisment