ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงาน ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว โดย IEA รายงานอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 99.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และคาดการณ์ในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 1.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 101.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มจากครั้งก่อน 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากอุปสงค์ของจีนที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าปี 2566 อุปสงค์ของจีนจะเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า (เกือบครึ่งของอัตราการเติบโตของอุปสงค์โลก) มาอยู่ที่ 15.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน และชี้ว่าการเปิดประเทศของจีนจะกระตุ้นอุตสาหกรรมการบิน ผลักดันให้อุปสงค์ Jet/Kerosene ของโลกในปี 66 เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 90% ของอุปสงค์ในปี 62 ก่อนเกิด COVID-19
อย่างไรก็ตาม ตลาดกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ 6.4% ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 11 ก.พ. 66 ลดลง 1,000 ราย จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 194,000 ราย ซึ่งจะทำให้ Fed อาจเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ล่าสุด ผลสำรวจจาก Reuters คาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับปัจจุบัน สู่ระดับ 4.75 – 5.0% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในเดือน มี.ค. 66 ขณะที่ Bank of America (BoA) คาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งละ 0.25% ในเดือน มี.ค. 66 และเดือน มิ.ย. 66 สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งจะกดดันต่อเศรษฐกิจและราคาน้ำมันโลก
โดยทางเทคนิค สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- EIA, IEA และ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 66 จะเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 101.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
- IEA รายงานว่าจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ในเดือน ม.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ Reuters รายงานว่าอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ในเดือน ม.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- EIA คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันดิบในปี 66 เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- IEA รายงานว่าปริมาณสำรองน้ำมันขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ในเดือน ม.ค. 66 เพิ่มขึ้น 27.9 ล้านบาร์เรล จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2,795 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ 78 ล้านบาร์เรล