- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ล่าสุดลดลงจากความกังวลของนักลงทุนว่าเศรษฐกิจโลกอาจถดถอย จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนล่าสุด อยู่ที่ระดับ 4.25-4.5% อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 ม.ค. 2566 มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่จีนกลับมาเปิดพรมแดนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี สิ้นสุดนโยบาย Zero-COVID-19 โดยสมบูรณ์ และคาดว่าจีนมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ซึ่ง Bloomberg รายงานว่าจีนซื้อน้ำมันดิบ CPC จากคาซัคสถานเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาร์เรล ส่งมอบในเดือน ก.พ. 2566 ส่งผลให้จีนนำเข้าน้ำมันดิบ CPC จากคาซัคสถาน รวมในเดือน ก.พ. 2566 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 122,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 191,000 บาร์เรลต่อวัน

อุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้นจากการเดินทางของชาวฮ่องกงและชาวจีนที่หลั่งไหลข้ามฝั่งอย่างคับคั่ง กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของฮ่องกงในปีนี้ จะอยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน (ปรับเพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อนที่ +2.7% จากปีก่อน)  ซึ่งจะทำให้ GDP ฮ่องกง ขยายตัวมากกว่าสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ

ให้จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเวเนซุเอลาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตบริษัท Chevron Corp. ลงทุนและผลิตน้ำมันดิบในเวเนซุเอลาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ซึ่ง Kpler รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเวเนซุเอลาปัจจุบันอยู่ที่ 630,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 730,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 66 และ 820,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 67 ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ผ่อนผันมาตรการการส่งออกน้ำมันดิบสู่สหรัฐฯ เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว

- Advertisment -

            ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 75-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นาง Kristalina Georgieva ระบุว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยุโรป จีนและสหรัฐฯ อาจชะลอตัว ขณะที่สงครามในยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ และธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.6% อยู่ที่ 12.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ขณะที่อุปสงค์น้ำมันและน้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 55,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 20.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 65      
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 420.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์  
  • National Centre for Statistics and Information (NCSI) ของโอมานรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในเดือน ม.ค.- พ.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% อยู่ที่ 355 ล้านบาร์เรล (1.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ โอมานผลิตคอนเดนเสทประมาณ 215,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • อุปสงค์น้ำมันของจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนการประกาศเปิดประเทศของรัฐบาล จีนจะผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ในวันที่ 8 ม.ค. 66 เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า และให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปต่างประเทศได้ ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศช่วงเทศกาลตรุษจีน (22-27 ม.ค. 66)  โดยยอดจองเที่ยวบินขาออกวันที่ 27 ธ.ค. 65 (วันประกาศยกเลิกมาตรการ) เพิ่มขึ้น 254% จากวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หลายประเทศก็ประกาศคุมเข้มเร่งรับมือ COVID-19 อีกครั้ง อาทิ ออสเตรเลียและแคนาดาออกข้อกำหนดให้นักเดินทางที่มาจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ ก่อนเดินทางเข้าประเทศ

Bloomberg รายงานว่ารัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางเรือในเดือน ธ.ค. 65 ลดลงจากเดือนก่อน 12,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบส่งออกทางเรือจากรัสเซีย เริ่มมีผล เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 65 ประกอบกับภาวะคลื่นลมแรงบริเวณท่า Kozmino เป็นอุปสรรคในการขนส่งน้ำมัน       

Advertisment