บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มอบรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 19 แก่ผู้ร่วมส่งผลงานอนุรักษ์ธรรมชาติดีเด่นเข้าประกวด โดยมีผู้ผ่านการพิจารณา 36 ผลงาน จากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 376 ผลงาน คว้าเงินรางวัลรวมกว่า 3 ล้านบาท หวังเชิดชูผู้ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไทย
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยในงานเวทีเครือข่ายลูกโลกสีเขียวว่า ในปี 2562 ปตท.พร้อมด้วยสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้จัดมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นครั้งที่ 19 นับตั้งแต่ปี 2542 เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคล ชุมชน เยาวชนและสื่อมวลชน ที่ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยในปี 2562 มีผู้ส่งผลงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียวทั้งสิ้น 376 ผลงาน โดยมีผู้ผ่านการพิจารณาได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวทั้งสิ้น 36 ผลงาน ที่จะได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล ซึ่งรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,005,000 บาท
“นับตั้งแต่ปี 2542 ที่ได้จัดพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวขึ้น เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคล ชุมชน เยาวชน และสื่อมวลชน ผู้มีจิตสาธารณะในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศทั้ง ดิน น้ำ ป่าและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ทุกคนตระหนักอยู่เสมอถึงหน้าที่ในฐานะสมาชิกของโลกที่ต้องประคับประคองแก้ปัญหา ฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรของโลก เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของคนและชุมชนอย่างแท้จริงและเป็นพลังเปลี่ยนโลกสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าว อู่น้ำของพี่น้องไทยต่อไป”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า ต้องการกระตุ้นให้คนเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง ลดผลกระทบต่อโลกและนำไปสู่การสร้างพลังร่วม โดยเฉพาะพลังของเยาวชนที่จุดประกายเคลื่อนไหวและลงมือทำจริงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
“หมดเวลาที่เราจะมานั่งโทษกันว่า ใครหรืออะไรเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนขึ้น สิ่งที่ต้องทำตอนนี้เพื่อฟื้นโลกให้กลับมามีชีวิตอยู่ต่อไปได้คือ เปลี่ยนตัวเรา เพื่อให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่จะทำให้ชีวิตต่างๆในโลกอยู่ได้”
สำหรับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19 แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทชุมชน ซึ่งมี 4 ผลงานได้รับรางวัลละ 2.5 แสนบาท 2.ประเภทบุคคล มี 5 ผลงานได้รับรางวัลละ 1 แสนบาท 3.ประเภทกลุ่มเยาวชน มี 10 ผลงานได้รับรางวัลละ 5 หมื่นบาท 4.ประเภทงานเขียน มี2 ผลงาน โดยรางวัลดีเด่นได้รับ 5 หมื่นบาท ส่วนรางวัลชมเชยได้รับ 2.5 หมื่นบาท 5.ประเภทความเรียงเยาวชน มี 6 ผลงานได้รับรางวัล โดยแบ่งตามประเภทอายุและผลงาน 6.ประเภทสื่อมวลชน มี 2 ผลงานได้รับรางวัลละ 1 แสนบาท และ7.ประเภท สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน มี 7 ผลงานได้รับรางวัลละ 1 แสนบาท