ปตท. เร่งปรับโครงสร้างรับมือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคปัจจุบัน จ้างที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในบริษัทลูกเกี่ยวกับปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมทั้งหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต คาดแนวทางปรับโครงสร้างจะเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 นี้
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลักคือ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมถึงการหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้คาดว่าแนวทางการปรับโครงสร้างจะเสร็จประมาณกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ และมีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2568 ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ปตท. จะกลับมาเน้นในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ยังมีการเติบโตได้ดี และเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization)
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 คาดว่าในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2567 โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การดำเนินงานของ ปตท.สผ. คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะยังทรงตัว โดยได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจขาลงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ไปแล้ว ส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ จะยังคงมีกำไรต่ำอยู่ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป
“ปี 2568 ปตท.จะยังมุ่งลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้ ทำได้ราว 8% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% ขณะเดียวกับจะรักษาการทำกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
ส่วนแผนลงทุน 5 ปี ของ ปตท.(ปี 2568-2572) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ของปตท. คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ปตท.ได้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับวงเงินลงทุน 5 ปี ได้ภายในกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ โดยเบื้องต้นงบลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) อย่างธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ ปตท.สผ. จะต้องเร่งขยายการลงทุนหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม และธุรกิจก๊าซฯ ที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอนาคต เป็นต้น
ด้านการขับเคลื่อนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงของโครงการฯ นั้น บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งทีมงานเข้าไปให้คำแนะนำ รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายให้รอบครอบ และ ไทยออยล์ ปัจจุบันก็ยังประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกำไรที่ดี มีสถานะการเงินที่พร้อมจะเดินหน้าการลงทุนต่อ ซึ่งโครงการ CFP ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นโครงการนี้จะต้องเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จ แต่จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปนั้น ทางไทยออยล์ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ต่อไป