ปตท.พาคณะสื่อมวลชนไทยดูงานโครงการ Aspern Smart City ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หวังนำรูปแบบและจุดเด่นมาปรับใช้กับการลงทุนSmart City ที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์และ สถานีกลางบางซื่อ ที่จะช่วยให้เกิดชุมชนใหม่ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 24มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะของผู้บริหารปตท.นำโดยนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ,นาย กฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ และนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปตท. นำสื่อมวลชนจากประเทศไทย ศึกษาดูงานในพื้นที่จริงของ Aspern Smart City และร่วมรับฟังการบรรยายจากตัวแทนของUrban Innovation Vienna ,และ Wien3420 Aspern Development AG ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ
Aspern Smart City มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเขตเมืองใหม่ ที่จะดึงคนที่ทำงานเกี่ยวกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้ามาพักอาศัยและทำงานโดยที่มีการเตรียมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาคารที่อยู่อาศัย และอาคารเชิงพาณิชย์ รองรับมากกว่า 20,000 คน และอัตราการจ้างงานกว่า20,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้การที่คนซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานอยู่ในชุมชนใหม่ จะช่วยลดการเดินทางลงจากเดิม โดยที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่พร้อมรองรับ โดยที่การใช้ไฟฟ้าจากเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ จะผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย และเชื้อเพลิงขยะ ให้ได้มากที่สุด
Aspern Smart City นั้นเริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 ไปจนถึงปี 2572 ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนเริ่มทะยอยเข้ามาอยู่อาศัยบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงมีบางส่วนของอาคารที่อยู่อาศัย และสำนักงานที่ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้บริการทางธุรกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัย การศึกษา พื้นที่สันทนาการ และสาธารณประโยชน์
จุดเด่นของ Aspern Smart City คือแนวคิดในการพัฒนาที่เรียกว่า Transit-Orientated Development คือเป็นการออกแบบพื้นที่การใช้สอยและระบบคมนาคม ที่มีการจัดสรรพื้นที่แบบ Mixeduse Quarters โดยการแบ่งให้มีสัดส่วนพื้นที่สันทนาการและพื้นที่สาธารณะอย่างละครึ่งในขณะที่ด้านนวัตกรรม มีการสร้างศูนย์ Smart City Research นำโดยบริษัท ซีเมนส์
อย่างไรก็ตามจุดเด่นหนึ่งที่ผู้บริหารปตท.ให้ความสนใจมากคือ เมืองอัฉริยะแห่งนี้ สามารถก่อสร้างอาคารโดยใช้ไม้โตเร็ว เป็นหลัก ยกเว้นเสาอาคารขนาดใหญ่ที่ยังเป็นซีเมนต์ ที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า อาคารที่สร้างจากซีเมนต์ล้วนทั้งหมด เพราะในขั้นตอนของการผลิตมีส่วนที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การมาดูงานที่Aspern Smart City ครั้งนี้ ทำให้ปตท.มองเห็นภาพของเมืองอัจฉริยะที่จะไปเริ่มทำทั้งที่ EECiวังจันทร์วัลเลย์ และที่จะมีความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นต้นแบบของSmart City ที่ปตท.มุ่งหวังจะให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำรถยนต์ไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่มาใช้ หรือมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายมาใช้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับในส่วนของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ที่จะพัฒนาให้เป็น Smart City ยังมีบางจุดที่ปตท.เห็นว่าจะต้องนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของทั้งนักวิจัยและครอบครัวของเขา เช่นการมี Community Mall มีสถานที่สันทนาการ เพื่อให้คนที่อยู่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ความบันเทิง ผ่อนคลาย ไม่ใช่เป็นนักวิจัยที่ทำงานเสมือนหุ่นยนต์