ปตท. ดึงบริษัทชั้นนำด้านดิจิทัลของโลกร่วมลงทุนใน EECi

1306
- Advertisment-
  1. ปตท. ดึงบริษัทดิจิทัลชั้นนำของโลก อาทิ IBM, Microsoft, Huawei, Cisco, SAP และอูเบะ เข้ามาเช่าพื้นที่และพัฒนาการวิจัยร่วมกันใน EECi โดยคาดงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2565

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ต้องการสร้างพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรม (Eco System) เพื่อสร้างนวัตกรรมของประเทศ โดยมีโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์และการวิจัยชั้นนำ ที่จะมารองรับแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการมีนวัตกรรมของตนเองและมีรายได้ที่สูงขึ้น

โดยการสร้างระบบ Eco System บนพื้นที่ 3,500 ไร่ ของ EECi นั้น ปตท.ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างศูนย์นวัตกรรมใหม่ให้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันนอก (EEC) มีบริษัทเอกชนชั้นนำเข้ามาลงทุนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรมและด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น Smart Farmer, Smart City, Smart Material, Internet of Thing (iOT), Robotic AI, Bio Economy, Bio Plastic หรือ Bio Field ซึ่งคาดหวังว่าจะมีนวัตกรรมเกิดขี้นในอีกไม่นานนี้ รวมทั้งมีนักวิจัย มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศที่จะมาช่วยสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ คาดว่า EECi จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 และจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่การลงทุนของบริษัทพันธมิตรต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาในเทคโนโลยีเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ Smart Energy, Smart Technology, Smart Environment, Smart Infrastructure, Smart Mobility และ Smart Management โดย ปตท. มีแผนจะดึงบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะบริษัทพันธมิตรที่เป็นคู่ค้า อาทิ IBM, Microsoft, Huawei, Cisco, SAP และอูเบะ เป็นต้น และในเร็วๆ นี้ จะเดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักชวนให้บริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนใน EECi ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

- Advertisment -

ส่วนพื้นที่ด้านหน้าของ EECi จะพัฒนาเป็น Community เช่น ที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล ที่จะมารองรับ EEC โดยจะดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่นอกเหนือจากที่ ปตท. ดำเนินการเอง ทำให้จะใช้เงินลงทุนสำหรับเขต EECi รวมกว่า 4,100 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ 2,500 ล้านบาท เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสถาบันวิทยสิริเมธีและโรงเรียนกำเนิดวิทย์ พร้อมทำพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking) เพื่อเริ่มงานก่อสร้างโครงการ EECi ในพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยได้กล่าวแสดงความยินดีกับทั้งสองสถาบันที่เป็นแหล่งรวมหัวกะทิของประเทศ ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมารองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC และขอบคุณหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้สถาบันดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้ เพราะมองว่าการศึกษาคือการสร้างอนาคตและจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทยได้ ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการวางแผนให้เด็กที่เกิดในวันนี้ได้มีงานทำใน 20 ปีข้างหน้า โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบตั้งแต่เด็กนักเรียน ครู อาจารย์ต่างๆ ตามแนวทางประชารัฐ มีท้องถิ่นเข้ามาช่วยพัฒนาทั้งหมด ไม่ได้มุ่งเน้นการให้เงินเพียงอย่างเดียว เช่นการสร้างโรงเรียน 1 โรงเรียน 1 ตำบล ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นในอำเภอในจังหวัด เพื่อไม่ต้องเข้ามาเรียนในเมืองทั้งหมด

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องเร่งผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่ยังคงขาดแคลนเพื่อมาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมทั้งเพิ่มการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการตลาด ให้แก่บุคลากรไทยมากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องช่วยวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ต้องรู้ว่าประเทศต้องการแรงงานประเภทไหนเพื่อผลิตนักศึกษาออกมารองรับ ซึ่งวันนี้ รัฐบาลพยายามนำหลักสูตรการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น การก่อตั้งสถาบันการศึกษารูปแบบโคเซน (KOSEN) ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการศึกษา ขออย่ากังวลว่าจะมาแย่งงานในประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรมป้อนตลาดโลก หากทำได้ดังนี้จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และมีโอกาสที่จะทำให้ EEC มี GDP ต่อหัวเท่าโตเกียวและนิวยอร์ค ทำให้ภาครัฐมีงบประมาณมาช่วยดูแลประเทศได้มากขึ้น จึงต้องสร้างคน สร้างรายได้ และสร้างความรู้ให้แก่บุคคลากรไทยตั้งแต่เริ่มต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมงานวิจัยของนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานสำหรับโครงการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบสำหรับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

Advertisment