ปตท.ชี้ OCA ไทย-กัมพูชา ช่วยให้ไทยมีแหล่งพลังงานราคาถูกลง เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ

224
- Advertisment-

ปตท.เตรียมความพร้อมแข่งขันลงทุนสำรวจผลิตและปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) หากรัฐบาลสามารถเจรจาจนได้ข้อยุติ ชี้เป็นโอกาสที่ไทยจะได้ใช้พลังงานราคาถูกลงและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้มากกว่าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ

จากประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA )ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแพทองธาร ถูกหยิบยกมาเป็นคำถามถึงการเตรียมความพร้อมของ ปตท.ในเวทีการแถลงผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก ปี 2567

โดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า กลุ่ม ปตท.โดย ปตท.สผ.มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา หากรัฐบาลสามารถที่จะเจรจาจนได้ข้อยุติ โดยพร้อมที่จะเข้าแข่งขันให้ได้รับสิทธิ์ ซึ่งมองว่า การที่ ปตท.สผ.มีการลงทุนแท่นผลิตและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ทับซ้อน จะทำให้สามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้เร็วขึ้นภายใน 5-6 ปี

- Advertisment -

ทั้งนี้การมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่อยู่ไม่ไกล และขนส่งด้วยระบบท่อ จะทำให้ได้ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า การนำเข้าLNG จากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้พลังงานมีราคาถูกลง และช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

ก่อนหน้านี้ นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวในงานสัมมนาซึ่งจัดโดยฐานเศรษฐกิจ ในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า ก๊าซธรรมชาติยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยอยู่ การแสวงหาก๊าซฯ จากแหล่งใหม่ๆ ทั้ง OCA และแหล่งอื่นๆ ก็จะช่วยลดต้นทุน และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานได้ แต่ถ้าแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่ใกล้ไทยจะดีกว่าเพราะมีโครงสร้างท่อก๊าซฯ รองรับอยู่แล้ว และลักษณะทางธรณีวิทยาก็ใกล้เคียงไทย ซึ่งรูปแบบความร่วมมือก็มีหลายรูปแบบที่จะทำให้เกิดต้นทุนที่ต่ำลงได้

Advertisment