ปตท. ชี้ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อให้เกิดการจ้างงาน ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ระบุมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นสูงถึง 10 – 25 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีมีการพาดพิงถึงการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนี้
การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสัดส่วนเพียง 20%
ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนส่งและครัวเรือนประมาณ 30% และใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 50% ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี ปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก มาทดแทน ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเดียวกัน สำหรับในส่วนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หรือวัตถุดิบเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามปัจจัยสถานการณ์ตลาดพลังงานโลก และตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย กลุ่ม ปตท. ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อให้เกิดการจ้างงาน ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 10 – 25 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี
นายวุฒิกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตลอดระยะเวลาของวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานในตลาดโลก ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติได้ร่วมแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับปริมาณความต้องการของประเทศทั้งในภาคประชาชน การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท (การช่วยเหลือระหว่างปี 2563 – 2565) เช่น การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น โดย ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนอย่างสมดุล”
–