ปตท.คาดลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ กับ บริษัท ราช กรุ๊ปฯ และ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ได้ในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ทั้งสองบริษัท ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แล้วเมื่อวันที่ 12ก.ค.2562ที่ผ่านมา
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.คาดว่า ในสัปดาห์หน้าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Gas Sales Agreement-GSA) กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH และ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ได้ หลังจากทั้ง 2 บริษัท ได้ยื่นเรื่องขอซื้อก๊าซกับ ปตท. เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้เอกสารต่างๆครบถ้วนแล้ว โดยอยู่ในกระบวนการพิจารณารายละเอียด
“โดยหลักการพิจารณาอนุมัติลงนาม GSA ให้กับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP นั้น จะพิจารณาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 บริษัท ได้ยื่นPPA แนบเข้ามาแล้ว ถือว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาติดขัดอะไร และปตท.เองก็มีความพร้อมที่จะซัพพลายก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”
ทั้งนี้ การลงนามGSA ครั้งนี้ จะเป็นการจัดหาก๊าซให้กับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ที่ได้รับสิทธิจากภาครัฐให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันตก สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์(โรงละ 700 เมกะวัตต์) คาดว่า ปริมาณการใช้ก๊าซฯ สำหรับ 2 โรงไฟฟ้าดังกล่าว จะอยู่ที่ 200-240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อายุสัญญา 25ปี เท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ขณะที่ราคาก๊าซฯจะเป็นไปตามข้อกำหนดและการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ราช กรุ๊ป ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ RATCH ถือหุ้นอยู่ทั้งจำนวน ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง 2 โรงรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่ จ.ราชบุรี กับ กฟผ. เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2562 อายุสัญญา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และปี 2568 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
ส่วนการลงนามGSA กับ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS จะเป็นการจัดหาก๊าซป้อนให้กับ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ เดิม หลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เป็นก๊าซธรรมชาติ ตามการเจรจาเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สำหรับปริมาณก๊าซที่ป้อนให้โรงไฟฟ้าดังกล่าว จะอยู่ที่ไม่เกิน 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อายุสัญญาราว 25ปี ตามสัญญาPPA