ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-21 ม.ค. 65) ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 และ ราคาน้ำมันดิบ Dubai เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากความกังวลต่อสถานการณ์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มกบฏ Houthi ในเยเมนเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 65 ด้วยการยิงขีปนาวุธและโดรน ไปยังบริเวณคลังน้ำมัน Mussafah ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Abu Dhabi National Oil Corp. (ADNOC) และสนามบิน Abu Dhabi ทำให้รถบรรทุกน้ำมันระเบิด มีผู้เสียชีวิต 3 คน อย่างไรก็ดี ซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตร (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน คูเวต จอร์แดน และโมร็อกโก) ทำการตอบโต้ต่อการโจมตีดังกล่าวในวันถัดมา โดยเข้าโจมตีทางอากาศต่อกลุ่ม Houthi ที่เมืองหลวง Sanaa ในเยเมน ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต 20 ราย มากที่สุดตั้งแต่ปี 2562
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์น้ำมันโลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยรายงานฉบับเดือน ม.ค. 65 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 96.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron มีแนวโน้มบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ทางด้าน Morgan Stanley คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในครึ่งหลังของปี 2565 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Goldman Sachs คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยในปี 2565 ที่ 96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และคาดการณ์ปี 2566 อยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 84 – 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
Reuters รายงานว่าอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ธ.ค. 64 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 11 เดือน เนื่องจากอุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 65 เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 413.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 592 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2545
–