ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 66 ลดลง 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 79.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาปิดวันที่ 21 ก.ค. 66 อยู่ที่ 81.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กลับมาเหนือระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 6 วัน จากสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ตึงเครียดจนอาจก่อให้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก โดยล่าสุด วันที่ 17 ก.ค. 66 รัสเซียประกาศไม่ต่ออายุข้อตกลงรับรองความปลอดภัยให้ยูเครนส่งออกธัญพืชทางทะเลดํา (Black Sea Grain Deal) และโจมตีท่าเรือและคลังเก็บธัญพืชของยูเครนอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุปทานธัญพืชชะงักงันและส่งผลกระทบต่ออุปทาน Ethanol และ Biodiesel ด้วย ขณะที่รัสเซียเตือนว่าจะไม่รับประกันความปลอดภัยของเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลดำเข้ายูเครนทุกลำโดยถือว่าเป็นเป้าหมายที่อาจขนส่งยุทโธปกรณ์ทางทหาร เหตุข้างต้นกลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศผ่านทะเลดำ
ภาพรวมด้านปัจจัยพื้นฐาน มีแรงหนุนจากภาวะตึงตัวจากมาตรการของ OPEC+ ซึ่ง Bloomberg รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของรัสเซีย (ผ่านทางท่อและทางเรือ) ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 3 แสนบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Alexander Novak ประกาศว่ารัสเซียจะลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ 5 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 66
ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) และธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ในสัปดาห์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า Fed และ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เนื่องจากยังไม่บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่สูงกว่าเพดานที่ 2% จากปีก่อนหน้า อนึ่ง ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Price Index: CPI) ในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ 3.0% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 และของยูโรโซน (Harmonised Index of Consumer Prices: HICP) ในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ 5.5% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 65
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้น 4.6% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 12.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 9.71% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 2.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- เกิดคลื่นความร้อนในยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี และโปแลนด์ ซึ่งมีแนวโน้มผลักดันให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ล่าสุด The Guardian รายงานว่าอุณหภูมิในเมือง Rome, Florence และ Bologna ของอิตาลี สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- Baker Hughes Inc. รายงานว่าจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 66 ลดลง 7 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 530 แท่น ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- JP Morgan ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีน ในปี 2566 อยู่ที่ 5.0% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% จากปีก่อนหน้า)
- สำนักข่าว TASS ของรัสเซีย รายงานว่า เวเนซุเอลามีแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2566 โดยจะส่งออกราว 60% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ OPEC รายงานว่า เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ 0.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน