ปตท. คาดน้ำมันดิบเบรนท์สัปดาห์นี้เคลื่อนไหวระหว่าง 65.5 – 69.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

322
Cr: Original image by Rudy and Peter Skitterians from Pixabay
- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมัน สัปดาห์ที่  24-28 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ราคาปรับขึ้นจากปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้น แม้ยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเอเชีย ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในสัปดาห์ระหว่าง 31 พ.ค. – 4 มิ.ย. 64 จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 65.5 – 69.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยตลาดยังจับตาดูข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐ ผลการประชุม OPEC และพันธมิตร รวมถึงแนวโน้มการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่ง โดยอัตราการเติบโตในไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 6.4 % เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าไตรมาส 4/63 ซึ่งอยู่ที่ 4.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยตลาดแรงงาน และการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณ ฟื้นตัว และได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากนโยบายการคลังที่ประธานาธิบดี Joe Biden ดำเนินการร่างงบประมาณประจำปีเป็นครั้งแรก วงเงินสูงถึง 8.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2574 โดยใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐาน อุดหนุนภาคครัวเรือนที่ประสบปัญหาจาก COVID-19 ทั้งนี้รัฐบาลจะใช้เงินจากการขึ้นอัตราภาษีรายได้นิติบุคคล

- Advertisment -

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • อุปสงค์น้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศในเอเชีย ล่าสุดนาย Muhyiddin Yassin นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศ Lockdown ขั้นสูงสุดทั่วประเทศวันที่ 1-14 มิ.ย. 64 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงาน ณ วันที่ 30 พ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 9,020 รายต่อวัน

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 65.5 – 69.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ในรอบที่ 5 ได้เริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยมีอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมนี เป็นคนกลางในการเจรจา และตลาดคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ในเร็วๆ นี้  ทั้งนี้ Reuters คาดว่าหากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 – 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 64 อยู่ที่ 0.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน ) ให้ติดตามผลการประชุมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ซึ่งเป็นการประชุมในรูปแบบ Online วันที่ 1 มิ.ย. 64 เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน และพิจารณามาตรการลดปริมาณการผลิตสำหรับเดือน มิ.ย. 64 และ ก.ค. 64 อย่างไรก็ดีตลาดคาดว่ากลุ่ม OPEC+ จะไม่ปรับมาตรการลดปริมาณการผลิตจากข้อตกลงเดิม แม้จะมีความกังวลว่าอิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมัน

Advertisment