ปตท.คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 16-20 พ.ย. 63 ยังได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของโลกที่เพิ่มขึ้น

481
- Advertisment-

ปตท.คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 16-20 พ.ย. 63 ยังได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย International Energy Agency หรือ IEA ไม่เชื่อมั่นว่าการทดสอบวัคซีนจะใช้ในวงกว้างได้ภายในครึ่งแรกของปี พ.ศ 2564 โดยให้ติดตามท่าทีเกี่ยวกับการขยายระยะเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+  ในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 30 พ.ย. 63 และ 1 ธ.ค. 63

หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) รายงานถึง สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 9-13 พ.ย. 63 และคาดการณ์แนวโน้มสัปดาห์ที่ 16-20 พ.ย. 63 โดย แนวโน้มราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯ ทะลุหลัก 11 ล้านราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 100,000 รายต่อวัน ติดต่อกันเป็นวันที่ 11 ทั้งนี้ สหรัฐฯ, ยุโรป, รวมทั้งเอเชียเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดแล้ว

อย่างไรก็ดีแม้การทดสอบวัคซีนมีความก้าวหน้าแต่ทว่า International Energy Agency หรือ IEA ไม่เชื่อมั่นว่าจะใช้ในวงกว้างได้ภายในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2564 และชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานในตลาดน้ำมันปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะหนุนราคาขึ้นได้ ให้ติดตามท่าทีเกี่ยวกับการขยายระยะเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+  ในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 30 พ.ย. 63 และ 1 ธ.ค. 63

- Advertisment -

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบประจำสัปดาห์วันที่ 9-13 พ.ย. 63 ในเชิงบวกนั้น มีดังนี้

-บริษัทผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 แถลงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีน อาทิ บริษัท Pfizer  และ BioNTech ระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิผลกว่า 90% และ Russia Direct Investment Fund ก็ประกาศว่าวัคซีนของรัสเซีย Sputnik V มีประสิทธิผล 92%

-Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2563 ลดลงจากปีก่อน 900,000  บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2564 ลดลงจากปีนี้ 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman กล่าวว่ากลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) อาจขยายระยะเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่เดิมจะสิ้นสุดเดือน ม.ค. 64 ออกไปเพื่อรักษาสมดุลในตลาดน้ำมัน

ส่วนปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ มาจาก

·นักลงทุนวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 54.5 ล้านราย ทั้งนี้สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก คิดเป็นประมาณ 20% และมีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 คิดเป็นประมาณ 19% ของ 1.3 ล้านรายทั่วโลก อนึ่ง การประกาศกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ในประเทศต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมันอีกด้วย

Advertisment