ปตท.คาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ช่วง5ปี (2561-2565)มีอัตราการเติบโตลดลง- 1.9% จากแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมากขึ้น โดยยังเดินหน้าแผนการจัดหา LNG นำเข้า ที่เน้นเจรจาทำสัญญาระยะยาว ส่วนการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 69-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561 ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยไตรมาส 1/2561 ที่อยู่ที่ 68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ผลประกอบการครึ่งแรกปี 2561 ทั้ง ปตท.และบริษัทย่อย มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA ) จำนวน 190,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,644 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.2%
ในบทสรุปผู้บริหาร เกี่ยวกับภาพรวมผลการดำเนินงาน เหตุการณ์สำคัญ และผลการดำเนินงานรายกลุ่มธุรกิจ ที่บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) รายงานต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.ใช้สมมติฐานว่าใน ปี 2561 – 2565 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีอัตราการเติบโตลดลงที่ -1.9% ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA ) มีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง
นอกจากนี้ ในระยะยาว ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยคาดว่าจะเข้าไปทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เพียงบางโรง และทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่ 30%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดหา LNG เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคตนั้น ปตท. ยังเดินหน้าจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาวที่เพิ่มเติมจากสัญญา Qatargas / Shell / BP และ Petronas
ซึ่งสำหรับความก้าวหน้าในการลงทุน LNG Terminal เพื่อรองรับปริมาณการใช้ก๊าซฯในประเทศ นั้น ปัจจุบันมี LNG Terminal ที่รองรับก๊าซฯได้รวม 10 ล้านตันต่อปี และในส่วนที่จะขยายเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี นั้นคาดว่าแล้วเสร็จในปี 2562
ส่วนการลงทุนโครงการก่อสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ ตามมติที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ที่ให้ ปตท. ดำเนินการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ที่ 7.5 ล้านตันต่อปี นั้นได้ ดำเนินการ Award of Contract แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561 และลงนามสัญญา (Contract Signing) ในวันที่ 6 ส.ค. 2561 โดยมีกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2565
ส่วนแผนงาน NGV นั้น ปตท. มีนโยบายเน้นการขายก๊าซฯแบบ Wholesale และส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนสถานีบริการ
บทสรุปผู้บริหาร ของปตท.ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังชี้ถึงความความต้องการใช้น้ำมันของโลกใน Q3/2561ที่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ ระดับ 99.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และความต้องการใช้น้ำมันโลกของปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันไปอยู่ที่ ระดับ 99.1 ล้านบาร์เรลต่อวันตามรายงานของ IEA ณ เดือนกรกฎาคม 2561 นำโดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชียและจีน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วคาดว่าทรงตัวจากปีก่อน
สำหรับภาวะอุปทานล้นตลาดคาดว่าจะลดลงจากแผนความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ non OPEC อย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง การคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ยังคงต้องติดตามการผลิต น้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ในปี2561 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 69-74 เหรียญ สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยไตรมาส1/2561 ที่อยู่ที่ 68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ในปี 2561 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2-6.6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากปี 2560 ตามภาพรวมตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่มีอุปสงค์ลดลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2561 ปตท.มีกำไรสุทธิ 30,029 ล้านบาท ลดลง 24.5% จากไตรมาส 1/2561 สาเหตุหลักจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ PTTEP และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นของเงินกู้สกุลต่างประเทศของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม
ส่วนยอดขายในไตรมาส 2/2561 ของ ปตท.อยู่ที่ 578,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% จากช่วงเดียวกันของปี2560 และเพิ่มขึ้น 8.6% จากไตรมาส 1/2561 โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากราคาขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 63.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 72.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 2/2561 ทำให้ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากทั้งปริมาณขายและราคาขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
ในขณะที่ผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2561 ทั้งปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 123,174 ล้านบาท หรือเพิ่ม 12.5% จากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA ) จำนวน 190,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,644 ล้านบาท หรือเพิ่ม 16.2 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังธุรกิจหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น ทั้งธุรกิจการกลั่น ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจก๊าซ
ส่วนรายได้จากการขายของทั้ง ปตท.และบริษัทย่อย ใน 6 เดือนแรกปี 2561 มีจำนวน 1,111,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123,174 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.5% โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ตามราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่เพิ่มขึ้นจาก 51.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็น 68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 32.3%
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 ปตท.และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,293,206 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 1,005,170 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวนรวม 1,288,036 ล้านบาท ในขณะที่สภาพคล่องของ ปตท. และบริษัทย่อย มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น สุทธิจำนวน 46,116 ล้านบาท โดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต้นงวด จำนวน 166,189 ล้านบาท เป็นผลให้เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดปลายงวดเท่ากับ 212,305 ล้านบาท