บ้านปู เพาเวอร์ พร้อมประมูลแข่ง โรงไฟฟ้าไอพีพี ทั้งก๊าซและถ่านหิน

1527
- Advertisment-

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  BPP เตรียมพร้อมประมูลแข่งโรงไฟฟ้า ไอพีพี ทั้งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ ฉบับใหม่ หรือ PDP2018  โดยในส่วนของถ่านหิน นั้น บริษัทมีพื้นที่ของโรงไฟฟ้า BLCP เฟส2 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ที่ได้เปรียบเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งที่ดิน ท่าเรือ ถ่านหิน และสายส่งไฟฟ้า

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  BPP เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP เฟส 2 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ไว้ หากภาครัฐมีนโยบายให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พ.ศ. 2561-2580) ที่กำหนดให้สร้างช่วงปลายแผนจำนวน 1,740 เมกะวัตต์

โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้จัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) ไว้แล้ว และมีสายส่งพร้อม เนื่องจากโรงไฟฟ้า BLCP จะเป็นโรงไฟฟ้าส่วนขยายของโรงไฟฟ้า BLCP เฟส1 ที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะท่าเรือขนส่งถ่านหิน พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทฯได้เปรียบด้านต้นทุนที่ถูกลงและมีผลให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7-8 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อเมกะวัตต์

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามหากภาครัฐมุ่งเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในอนาคตแทนถ่านหิน บริษัทฯก็มีความพร้อมเนื่องจากโรงไฟฟ้า BLCP เฟส2 สามารถปรับเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติได้ด้วย แต่ต้องกลับไปทำรายงาน EHIA ใหม่

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมหากภาครัฐจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก(SPP) รวมทั้งโรงไฟฟ้าทางภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องดูโอกาสในการแข่งขันและผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วย

นายสุธี  กล่าวด้วยว่า สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2562 นี้ บริษัทฯ มีแผนจะปรับเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้มากขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่ 4,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 จากปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,869 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 28 โรง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว(COD) 2,145 เมกะวัตต์ จำนวน  17 โรง และอยู่ระหว่างพัฒนา 11 โรง กำลังผลิต 724 เมกะวัตต์

การปรับเป้าหมายใหม่เนื่องจากเห็นว่าบริษัทฯมีศักยภาพที่จะดำเนินการผลิตได้มากขึ้น จากการซื้อกิจการ(M&A)โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาในหลายโครงการ และยังมีโอกาสจากการแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้า BLCP เฟส 2 เป็นต้น

Advertisment