บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM จัดทริปพิเศษพานักลงทุน เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานภายในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 3 และ 4 ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง พร้อมกิจกรรมขี่ม้าที่ บี.กริม คันทรี คลับ จ.ชลบุรี ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับโลก และเยี่ยมชมโรงพยาบาลม้าที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณนักลงทุนที่ไว้วางใจ ให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนการดำเนินงานของ บี.กริม เพาเวอร์ มาโดยตลอด
บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นสร้างการเติบโตในระยะยาว พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี มีการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารีที่ยึดถือมากว่า 144 ปี”
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 3 และ 4 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ขนาดกำลังการผลิตรวม 266 เมกะวัตต์ ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยนำเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในระบบการผลิตและการซ่อมบำรุง จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรวม 180 เมกะวัตต์ อีกทั้งจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการเป็น Smart City ในอนาคต
ส่วน บี.กริม คันทรี คลับ ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับโลก อาทิ การเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันซีเกมส์ 2007 และ FEI Asian Championships ปี 2019 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เป็นต้น
และไฮไลท์สำคัญ คือ การเยี่ยมชมโรงพยาบาลม้า ซึ่งเป็นศูนย์บริการสุขภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟูม้า โดยมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพและสุขาภิบาลสัตว์ ตรวจรักษาโรค รวมถึงการป้องกันโรคระบาด ดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตม้าอย่างครบวงจร
บี.กริม ส่งเสริมกีฬาขี่ม้าและกีฬาขี่ม้าโปโลในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมายาวนานกว่า 20 ปี โดยยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น คนเลี้ยงม้า ผู้ฝึกสอนคน ผู้ฝึกสอนม้า สัตวแพทย์ สัตวบาล นักกายภาพ ช่างเกือก ช่างหนังผู้ผลิตเครื่องม้า เกษตรกรผู้ปลูกหญ้า ตลอดจนอุตสาหกรรมอาหารม้า นอกจากนี้การจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศอีกด้วย