บี.กริม จับมือ สถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน หนุนโครงการสร้างบ้านอยู่ดีมีสุข นำร่อง 10 หลังให้ อสม.สู้ภัยโควิด-19 พร้อม เสริมอาชีพปลูกไผ่ พืชสมุนไพร ช่วยสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต อสม.ที่ตั้งใจทำงานอย่าง ทุ่มเท เสียสละ
วันนี้ (14 ตุลาคม 2564 ) ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับ ดร.เมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน และนายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดสร้างบ้านอยู่ดีมีสุขครอบครัว อสม.โดยทำพิธียกเสาเอกบ้านหลังแรกให้กับ อสม.วิทสันติ หอมงาม หมู่ 12 ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอ แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นับเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค ดูแลสุขภาพของประชาชน อย่างเข้มแข็ง จนได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ
การสร้างบ้านอยู่ดีมีสุขให้กับครอบครัวอสม. ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละทั้งแรงกาย แรงใจจึงเป็นการตอบแทนในบทบาทที่สำคัญ ที่ทาง บี.กริม ยินดีร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่
โดยเริ่มนำร่อง 10 หลังคาเรือน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ “บี.กริม ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19”ของบริษัท ที่ได้สนับสนุนเงินบริจาค และปัจจัยสิ่งของจำเป็น เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกันชีวิต และถุงยังชีพ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาได้ร่วมบริจาคทั้งทางตรง กับ สถานพยาบาลต่างๆ หรือ ประชาชนที่เดือดร้อน รวมถึงผ่านองค์กรการกุศลที่สำคัญต่างๆอย่างเร่งด่วนมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ยังกล่าวชมเชยประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย จำรัส คำรอด ที่สามารถบริหารจัดการเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมาตลอดระยะเวลา 40 ปี
ด้านดร.เมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน กล่าวว่า อสม. มีบทบาทหลักคือการช่วยดูแลสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ ดั่งคำขวัญที่ว่า “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข” อสม.ก็คือชาวบ้านในหมู่บ้านประกอบอาชีพเหมือนกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรฐานะยากจน การศึกษาไม่สูงนัก มีรายได้น้อย อยู่แบบเรียบง่ายและมีจิตอาสา แม้ว่าจะต้องประกอบอาชีพ แต่ก็ยังทำหน้าที่ของ อสม.เพื่อส่วนรวมอย่างมั่นคงเสมอมา ไม่ได้มีการเรียกร้องสิ่งตอบแทนใด ๆ จะมีบ้างก็คือ ค่าป่วยการในการทำงานของ อสม. เดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ( ซึ่ง อสม.บางคนใช้เงินในการทำงานมากกว่าเดือนละ 1,000 บาท) ส่วนสวัสดิการเรื่องเจ็บป่วย หรือ เสียชีวิต ผู้ที่เป็น อสม.ต้องทำด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น ยังไม่มีองค์กรใด ๆ มาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ดังนั้นสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งดำเนินงานร่วมกับ อสม.มาโดยตลอดและเข้าใจสภาพปัญหาของ อสม.เป็นอย่างดี จึงได้หารือกับภาคธุรกิจเอกชนอย่าง บี.กริม ที่มีแนวความคิดในการสนับสนุนภาคประชาชนให้มาสนับสนุนคุณภาพชีวิตของ อสม.ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัย ให้มีสภาพดี มั่นคง สวยงาม รวมทั้งการสนับสนุนการสร้างอาชีพ ปลูกไผ่ สมุนไพร ให้เกิดรายได้กับ อสม.ผู้เข้าร่วมโครงการด้วย
ขณะที่ นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวว่าโครงการบ้านอยู่ดีมีสุข ของ อสม. นี้เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ บริษัทบีกริม สถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย มูลนิธินายแพทย์ปรีชา ดีสวัสดิ์เพื่อการสาธารณสุขไทย มูลนิธิพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ชมรม อสม.ระดับจังหวัด และบริษัทเวลโกรโซลูชั่น จำกัด เป็นต้น
โดย อสม.และครอบครัวที่จะได้มีบ้านอยู่ดีมีสุข จะมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เบื้องต้น คือเป็น อสม.มาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีความเข้มแข็งในการทำงาน มีรายได้เพียงพอในการที่จะผ่อนบ้านตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด
ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกจะมาจากคณะกรรมการของ อสม.ระดับจังหวัดและผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อ อสม.โดยตรง