บางจากฯ ชี้Synthetic Biology หรือ SynBio จะเป็นDisruptive Technology ที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมหลายๆ อุตสาหกรรม เช่นอาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ ในอนาคต ในขณะที่ บริษัทมีแผนลงทุนตั้งฮับอุตสาหกรรมชีวภาพ สร้างสารสังเคราะห์ธรรมชาติผลิตเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุชีวภาพ สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลก
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยภายหลังสัมมนา “SynBio Forum 2019 ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก” เมื่อวันที่ 7พ.ย.2562 ว่า SynBio เป็นศาสตร์ที่รวมเอาหลายศาสตร์มาผสมผสานเข้าด้วยกัน อาทิ วิศวกรรมกระบวนการสร้างและสลาย(Metabolic Engineering) พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) อณูชีววิทยา (Molecular biology) บวกคอมพิวเตอร์และระบบประมวลผล ที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลกที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7พันล้านคนในอีก10ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 7พันล้านคน
ทั้งนี้SynBio นับเป็น Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนเครื่องมือในการออกแบบอนาคต ที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ ฯลฯ โดย SynBio เป็นการนำนวัตกรรมมาสร้างสิ่งมีชีวิต (Living Organisms) ด้วยฝีมือของมนุษย์ ไม่ใช่การเกิดโดยธรรมชาติ
ซึ่งล่าสุดมีกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนจากพืช น้ำตาล และมันสำปะหลัง สามารถนำมาผลิตเป็นเนื้อสัตว์เสมือนจริงและนำมาประกอบอาหารแล้ว ซึ่งช่วยลดการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงนำน้ำตาลมาสังเคราะห์เป็นคอลลาเจน นอกจากนี้ยังสังเคราะห์เพื่อผลิตเป็นนม ยารักษามะเร็ง หรือการผลิตเสื้อจากไยแมงมุม ที่มีความทนทานเป็นพิเศษ
โดยในหลายประเทศเช่น สหรัฐฯและยุโรปเริ่มวางแผนออกแบบการพัฒนา SynBio สำหรับเป็นฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆของตัวเองแล้ว ซึ่งชี้ว่าโลกกำลังเดินไปในทิศทางนี้
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่าในส่วนของ บางจากฯ เตรียมจัดตั้งศูนย์กลาง(ฮับ)อุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ ของกลุ่มบางจากขึ้น โดยนำพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบ โดยตั้งเป้าผลิตสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและวัสดุชีวภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโรงงานและผลิตภัณฑ์ คาดว่าใน 1-2 เดือนจะทราบสถานที่ก่อสร้าง และหลังจากนั้นใน 1-2 ปี คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้
สำหรับประเทศไทยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยี SynBio ในอนาคต ในระยะแรกภาครัฐควรต้องมีนโยบายชัดเจน มีการส่งเสริมทั้งด้านภาษีและมาตรการทางกฎหมายแบบกึ่งบังคับใช้เป็นต้น
ด้านนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) กล่าวในงานสัมมนา ว่า Synbio จะเป็นโมเดลพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคตได้ โดยในทางปฏิบัติ SynBio ซึ่งยึดแนวทางการทำธุรกิจภายใต้ BCG Model ที่มี 3 แนวทางหลักคือ B (Bio economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า C (Circular economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด และ G (Green economy) เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืนนั้น ภาครัฐมีการตั้งเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ว่าธุรกิจด้านนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากจะมีการนำพืชเศรษฐกิจของประเทศ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม มาเข้ากระบวนการ SynBio ผลิตสินค้ามากมาย