คณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC เห็นชอบลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ลงทุนหน่วยผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ให้กับโครงการพลังงานสะอาดของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) คาดสร้างเสร็จไตรมาส3 ปี 2566 ช่วยให้ไทยออยล์ลดภาระการลงทุนลง และส่งผลให้ GPSC มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,955 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวม 1,585 ตันต่อชั่วโมง
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า คณะกรรมการ GPSC ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2562 เห็นชอบแผนการลงทุนในหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ให้กับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) มูลค่าลงทุน 24,113 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการ CFP ของไทยออยล์ ต้องการเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเป็นระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน และในโครงการนี้หน่วยผลิตไฟฟ้า ERU นี้ เป็นหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งจะใช้กากน้ำมันที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโครงการ CFPเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต เพื่อลดภาระการลงทุนโครงการ CFP ไทยออยล์จึงจัดหาผู้ลงทุนแทนการลงทุนจัดสร้างเองทั้งหมด ซึ่ง GPSC ได้เข้าพัฒนาโครงการ ERU มาตั้งแต่โครงการ CFP ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาออกแบบ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจสาธารณูปโภค
สำหรับการพัฒนาหน่วยผลิตไฟฟ้าหรือ ERU ดังกล่าว GPSC จะดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100% ส่วนพื้นที่ตั้ง ERU จะเป็นสัญญาเช่าช่วงจากไทยออยล์และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างหลังมีการลงนามในสัญญา โดยก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 58 เดือน หรือคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2566
นายชวลิต กล่าวว่า แผนการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 1,955 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,585 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งในปี 2562 GPSC มีแผนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 (NL1PC) ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า ไซยะบุรี (XPCL) กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 4 กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง และโรงผลิตสาธารณูปโภค 3 (CUP-3) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานระบบโคเจนเนอเรชั่น ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ภายในปี2562 นี้ สำหรับปี 2563 มีโครงการส่วนต่อขยายของโรงไฟฟ้า นวนคร (NNEG) กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ที่จะพร้อมเริ่มจ่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าได้