บอร์ด EEC สั่งเดินหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 คาดลงนามสัญญาร่วมทุน ก.ค.นี้

1753
- Advertisment-

บอร์ด EEC สั่งเดินหน้า 2 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ โครงการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุนรวมกว่า 2.71 แสนล้านบาท คาดลงนามสัญญาร่วมทุนกับภาคเอกชนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 6/2562 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย กพอ. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และให้สำนักงานอัยการสูงสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเอกชนผู้ชนะประมูล พิจารณาร่างสัญญาการร่วมทุนเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้นำความเห็นกลับมาเสนอภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. อนุมัติให้ กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก คาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ได้ผ่านความเห็นชอบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ซึ่ง สผ. จะนำเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป จากนั้น กนอ. จึงจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนเพื่อบริหารจัดการถมทะเลได้

- Advertisment -

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ได้ผ่านการประเมิน EIA จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แล้วในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของโครงการฯ จะนำรายงาน EIA เสนอ ครม. เห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะสรุปแผนการส่งมอบพื้นที่ให้กับภาคเอกชนตามที่ได้ตกลงรายละเอียดการส่งมอบพื้นที่เป็นรายเดือนทั้งในส่วนแผนงานและงบประมาณดำเนินการ และจะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เช่นกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ดำเนินโครงการตามแผนคือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จภายในปี 2566

“ความคืบหน้าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 4-5 โครงการในพื้นที่ EEC ขณะนี้มี 2 โครงการ คือ ท่าเรือฯมาบตาพุด เฟส 3 ช่วงที่ 1 และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่สามารถผลักดันการลงทุนได้อย่างชัดเจนและจะเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะสร้างการลงทุนมูลค่าสูงถึง 271,900 ล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง 224,000 ล้านบาท และท่าเรือมาบตาพุด 47,900 ล้านบาท” นายคณิศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สำหรับมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 62 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการขอปรับปรุงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐในโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ตามที่ กนอ. ได้เจรจาเพิ่มเติมกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูล ได้แก่ กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้ากัลฟ์กับพีทีทีแทงค์ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอก่อนหน้านี้

ซึ่งสาระสำคัญ คือการให้เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ หักค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนของภาคเอกชนจากเดิมที่ กนอ.ต้องจ่ายให้ภาคเอกชนปีละ 720 ล้านบาท เหลือปีละ 710 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี รวมวงเงิน 21,300 ล้านบาท ทำให้ผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ. จากการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,721 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ กนอ. จะได้รับอยู่ที่ 6,606 ล้านบาท โดยเป็นผลตอบแทนในโครงการช่วงที่ 1 อยู่ที่ 139 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนโครงการช่วงที่ 2 กนอ. ได้รับ 6,582 ล้านบาท ซึ่งการเจรจานี้เป็นการคำนวณตามสมมุติฐานอัตราคิดลดจากอัตราดอกเบี้ยที่ภาคเอกชนสามารถกู้ได้ที่ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี สูงกว่าครั้งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ซึ่งเคยใช้อัตราส่วนเงินกู้ ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นอัตราส่วนที่เป็นการกู้ยืมระหว่างภาครัฐหรือเป็นไปตามสัดส่วนเงินกู้พันธบัตรรัฐบาล (Reference Price)

ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางการเงินของ กนอ. ตลอดโครงการคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 9.21 ส่วนผลตอบแทนของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลหลังการต่อรองลดลงจากเดิม 14,371 ล้านบาท เป็น 14,298 ล้านบาท คิดเป็น FIRR ร้อยละ 10.73

สรุปผลการปรับปรุงหลักการโครงการท่าเรือฯมาบตาพุด เฟส 3 ช่วงที่ 1

 

Advertisment