บอร์ด กกพ. มีมติรอ กฟน.และ PEA จัดทำอัตราขายปลีกไฟฟ้าสีเขียวให้เสร็จ ก่อนออกประกาศหลักเกณฑ์ได้ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2566 นี้

1178
- Advertisment-

บอร์ด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จัดทำอัตราขายปลีกไฟฟ้าสีเขียวให้เสร็จก่อน จึงนำมาปรับปรุงรวมกับข้อมูลที่รับฟังความเห็นประชาชนไว้ เพื่อออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์อัตราขายปลีกไฟฟ้าสีเขียวที่สมบูรณ์ คาดประกาศใช้ ส.ค.-ก.ย. 2566 นี้ ส่วนไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ จะเปิดรับซื้อหลังจากหลักเกณฑ์อัตราไฟฟ้าสีเขียว และสัญญา PPA เฟสแรกมีความชัดเจนแล้วเท่านั้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 โดยมีมติเห็นชอบให้นำความเห็นของประชาชน ที่ กกพ.เปิดรับฟังเกี่ยวกับ “หลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน) ที่การไฟฟ้าเป็นผู้ขายปลีกให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาชน” มาปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่

อย่างไรก็ตามจะยังไม่ประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่จะรอให้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) คำนวณราคาค่าไฟฟ้าสีเขียวที่จะจำหน่ายปลีกแก่ภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงจะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ฯ ที่สมบูรณ์ และจะประกาศใช้ได้ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566 นี้

- Advertisment -

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อหลักเกณฑ์อัตราขายปลีกไฟฟ้าสีเขียว และคาดว่าจะนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อประกาศอีกรอบ แต่ บอร์ด กกพ.ที่ผ่านมา เห็นว่าควรรอให้ กฟน.และ PEA จัดทำอัตราขายปลีกไฟฟ้าสีเขียวมาก่อน เพื่อจะได้พิจารณาปรับปรุงทั้งหมดไปพร้อมกัน และออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์ฯ ให้ชัดเจนในคราวเดียว ดังนั้นขณะนี้จึงต้องรอให้ทั้งสองการไฟฟ้าเสนออัตราขายปลีกไฟฟ้าสีเขียวมาก่อนจึงจะดำเนินการอื่นๆ ต่อไปได้

สำหรับรูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวนั้น มีทั้งการขายส่งและขายปลีก โดยอัตราขายส่งไฟฟ้านั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าจะขายไฟฟ้าให้กับ กฟน. และ PEA ตามอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 กำหนดไว้ โดยประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ราคา 2.07 บาทต่อหน่วย, พลังงานลม ราคา 3.10 บาทต่อหน่วย และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ราคา 2.16 บาทต่อหน่วย ซึ่งในรอบแรกที่ กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากผู้ผลิตไฟฟ้านั้น มีผู้ร่วมโครงการ 175 ราย ได้ไฟฟ้าจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์

ส่วนการขายปลีกนั้น กฟน. และ PEA จะนำต้นทุนค่าไฟฟ้าดังกล่าวมาบวกรวมกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าสายส่งไฟฟ้า และ ค่าบริหารจัดการไฟฟ้า เป็นต้น และคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าที่ กฟน. และ PEA จะขายปลีกให้กับอุตสาหกรรมและประชาชนต่อไป

ทั้งนี้อัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกนี้ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนดไว้คือ 1.แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) และ 2. แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะมีราคาแตกต่างกัน เมื่อผู้บริโภคซื้อไฟฟ้าสีเขียวก็จะได้รับใบรับรองการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ไปด้วย เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่ากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมนั้นๆ มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าด้วย

อย่างไรก็ตามแม้หลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจะกำหนดเสร็จในปี 2566 นี้ แต่โรงไฟฟ้าสีเขียวจะเริ่มสร้างเสร็จปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 ดังนั้น อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจึงเป็นการทำล่วงหน้าเพื่อรอให้โรงไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรกที่เพิ่งเสร็จสิ้นการคัดเลือกและอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้สร้างเสร็จก่อน จึงจะเริ่มมีผลในการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวเพื่อใช้จริงต่อไป

สำหรับโครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์นั้น ยืนยันว่าต้องรอให้หลักเกณฑ์ด้านอัตราขายปลีกค่าไฟฟ้าสีเขียว และสัญญา PPA ของเฟสแรก เสร็จสมบูรณ์ก่อน จึงจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ได้ เพื่อจะได้นำหลักเกณฑ์ทั้งหลายของเฟสแรก มาใช้กับเฟส 2 ได้ทันที

Advertisment