บอร์ดอีอีซีเห็นชอบเดินหน้าโครงการใหญ่เพิ่มอีก 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 470,035 ล้านบาท รวมถึงโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายสินค้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หลังจากก่อนหน้านี้อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้ว
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 4/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ ( 4 ก.ย. 2561) มีมติเห็นชอบ 4 โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเตรียมออกหนังสือชี้ชวนเอกชนลงทุน ภายในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และ 4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
โดยโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นการขยายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมระดับภูมิภาค มีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นเจ้าของโครงการ เงินลงทุนท่าเรือก๊าซจากภาครัฐและเอกชน รวม 47,900 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 47,357 ล้านบาท และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่รวมการจ้างงาน 85,300 ล้านบาท
การขยายท่าเรือมาบตาพุดดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเพิ่มความสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสินค้าของเหลว ซึ่งในอนาคตจะเปิดท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า โดยเอกชนจะลงทุนเพิ่มอีก 7,500 ล้านบาท โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนแล้ว รวมเงินลงทุนทั้งหมด 55,400 ล้านบาท ทั้งนี้ กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุน เดือนมกราคม 2562 และจะเปิดดำเนินการต้นปี 2568
ขณะที่อีก 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีกิจกรรมรวม 6 ประเภท คือ อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์ธุรกิจการค้า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 จะทำให้ประเทศไทยได้สนามบินนานาชาติขนาด 60 ล้านคน ส่วนเงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนรวม 290,000 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 193,612 ล้านบาท เปิดดำเนินการปี 2566
โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการย้ายศูนย์ซ่อมของการบินไทย ออกจากที่เดิม เพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารใหม่ เพื่อใช้เป็นศูนย์ซ่อมใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้น และทันสมัยมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค เงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชน รวม 10,588 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 38,872 ล้านบาท เปิดดำเนินการกลางปี 2565
และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเป็นประตูส่งออกของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถเป็น 15 ล้าน TEU โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ จะเริ่มลงทุนเบื้องต้นที่ท่าเรือ F1 และ F2 ก่อน ให้เป็นท่าเรือทันสมัยใช้ระบบอัตโนมัติ เงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนรวม 84,361 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทน 76,078 ล้านบาท และในอนาคตจะเปิดท่าเรือ E เอกชนจะลงทุนเพิ่มโดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนแล้ว รวมเงินลงทุนทั้งหมด 114,047 ล้านบาท เปิดดำเนินการปลายปี 2566
ก่อนหน้านี้ บอร์ดอีอีซี ได้อนุมัติโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซีไปแล้ว 1 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้ออกเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา และกำหนดรับข้อเสนอเอกชน วันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ทำให้รวมทั้ง 5 โครงการในอีอีซี มีมูลค่าการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) จำนวน 652,559 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 209,916 ล้านบาท และภาคเอกชน 442,643 ล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ 819,662 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน และมีผลตอบแทนทางการเงินโครงการ 559,715 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 446,960 ล้านบาท ภาคเอกชน 112,755 ล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนรวมในอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 0.3 ล้านล้านบาท และภาคเอกชน 1.4 ล้านล้านบาท