บอร์ดกฟผ.อนุมัติ ลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิต45เมกะวัตต์

977
- Advertisment-

บอร์ด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เห็นชอบอนุมัติลงทุน โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ระยะที่ 2 ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ก่อน

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ(บอร์ด) กฟผ.ที่มีนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ กฟผ.ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ)ระยะที่2 ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์  แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อน

ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ระยะที่1 ที่ กฟผ. กับเครือเอสซีจี จะนำร่องโครงการขนาดกำลังผลิต ราว 250-500 กิโลวัตต์ ติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี เพื่อผลิตและใช้ไฟฟ้าภายในเขื่อนเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องรอ กพช. พิจารณา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก และคาดว่าจะดำเนินการสร้างเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 นี้

- Advertisment -

สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ ที่กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กฟผ.ดำเนินการนั้น เบื้องต้นกฟผ.มีแนวทางที่จะดำเนินการในเขื่อนของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 11 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้จะต้องรอดูความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผน เนื่องจากแผน PDP ฉบับปัจจุบัน คือ PDP2015 นั้น ไม่ได้มีการบรรจุโครงการดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ตามโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำระยะที่ 3  หากได้ดำเนินการจะต้องใช้วิธีเปิดประมูลหาผู้ร่วมโครงการ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศหรือต่างประเทศ แต่จะกฟผ.จะพยายามหนุนผู้ประกอบการภายในประเทศก่อน

ในส่วนของความคืบหน้าแผน PDP ฉบับใหม่นั้น แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนประชุมหารือเป็นนัดแรกในวันที่ 24 ส.ค. 2561 อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อสรุปศักยภาพปริมาณพลังงานทดแทนและจัดลำดับความสำคัญของพลังงานทดแทนที่จะเกิดขึ้นในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลด้านพลังงานทดแทนของไทยยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ และข้อมูลดังกล่าวจะนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ของประเทศไทยที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ด้วย

Advertisment