“บรรยง” “ปิยสวัสดิ์” “เทวินทร์” “มนูญ” โพสต์โต้ “กรณ์”เดินสายยื่นค้าน GPSC ซื้อ GLOW

320
- Advertisment-

“บรรยง” “ปิยสวัสดิ์ “ “เทวินทร์” “มนูญ” ต่างแสดงความเห็นโต้”กรณ์” กรณีเดินสายยื่นหนังสือคัดค้าน GPSC ซื้อกิจการไฟฟ้า “GLOW” และการทำธุรกิจกาแฟอเมซอน ของปตท. ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 75

หลังจากที่ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เดินสายยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าซื้อกิจการไฟฟ้าบริษัท  โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) หรือ  GLOW ของGPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. และการที่ปตท.เข้ามาทำธุรกิจกาแฟอเมซอน แข่งกับเอกชน ว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 75  ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงคนพลังงานในวงกว้าง และทำให้มีบุคคลที่คลุกคลีอยู่ในวงการพลังงานหลายคนออกมาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นต่างจากนายกรณ์

โดย นายบรรยง พงษ์พานิช  อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 ในหัวข้อ “ห้ามรัฐแข่งกับเอกชน? “ว่า  มีผู้ยกเอาบทบัญญัติในมาตรา 75 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ระบุว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมการจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ” พร้อมทั้งมีการกล่าวอ้างว่า ข้อความนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ตั้งแต่ฉบับ 2540 เป็นต้นมา

- Advertisment -

โดยนายบรรยง แสดงความเห็นว่า  มาตราดังกล่างถึงแม้จะมีเจตนาเป้าหมายที่ดี ที่ถูกต้อง แต่ถ้าคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริง มันยังเป็นเรื่องที่ขัดกับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่ทำมา ถ้าบังคับใช้ในทันทีย่อมเกิดความวุ่นวายถ้าจะระบุหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะระบุไว้แค่ “รัฐต้องมีเป้าหมายที่จะไม่ประกอบกิจการ……

ทั้งนี้เพราะเป็นธรรมดาของประเทศด้อยพัฒนาที่ ตลาด และเอกชนยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับภาระสร้างสินค้าและบริการได้เพียงพอ โดยเฉพาะกิจการสาธารณูปโภคที่ต้องลงทุนขนาดใหญ่ รัฐจึงจำต้องเป็นผู้ดำเนินการเริ่มต้นทั้งทำในหน่วยงานของรัฐเอง หรือจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการ และเมื่อเอกชนทำได้ รัฐควรเปิดให้เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งกิจการที่รัฐเคยทำ ถ้าแปรรูปได้ก็ควรจะ”แปรรูป”ไปเสีย ส่วนรัฐเอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นที่เอกชนไม่ทำ เช่น ความมั่นคง การศึกษา การอนามัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งรัฐสวัสดิการต่างๆ ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

อย่างที่มีการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก็เหมือนกัน ถ้าปตท.คิดว่าการควบรวมทำให้เกิดประโยชน์ มีSynergy ช่วยลดต้นทุน สร้างขนาดEconomy of Scale และสุดท้ายสร้างมูลค่าเพิ่ม เขาก็ควรเดินหน้าได้ ภาครัฐก็เพียงแต่คอยดูแลควบคุมตามพรบ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ให้ผูกขาด ไม่ให้ครอบงำตลาด และดูว่าขัดต่อกฎหมายพลังงานหรือไม่

“ขอกลับมาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 75 นั่นอีกที ผมไม่เถียงหรอกครับว่ามันเขียนอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับ มันเป็นการเขียนที่บกพร่อง ไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยเฉพาะกับรัฐวิสาหกิจ ไม่อย่างนั้น …การบินไทยก็ต้องเลิกบิน เลิกขายขนม เลิกขายกล่องงานศพ …กรุงไทย ออมสิน ต้องเลิกให้กู้ เลิกบัตรเครดิต …ทศท. CATต้องเลิกธุรกิจโทรคมนาคม(อันนี้น่าจะดีแฮะ) …EGATเลิกเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ฯลฯ” นายบรรยงระบุ ไว้ในบทความ

โดยเนื้อหาในบทความยังระบุด้วยว่า  ถึงแม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เป็นเรื่องดี แต่การปฏิรูปต้องใช้เวลา ต้องมีขั้นตอน อย่างที่คณะกรรมการนโยบายวิสาหกิจ (คนร.)เคยวางแผนไว้ ก็คือ กันการบริหารให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ให้แข่งขันกับเอกชนเต็มที่ ในระยะยาวก็ควรที่จะค่อยๆแปรรูปไปเสียให้หมด อย่างที่ประเทศพัฒนาเขาทำ

“สำหรับผมนั้นชัดเจนครับ ว่าการคัดค้านเรื่องนี้นั้นไม่มีหลักการที่หนักแน่น เป็นการเอาวิจารณญาณหลายเรื่องมาปนๆกัน ผมคิดว่าเป็นการหลงทาง เป็นการเป๋ในหลักการอย่างแน่นอน ไม่ได้เป็นการมองต่างมุมแต่อย่างใดเลยครับ …และนี่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะมันไม่ใช่แค่มาเถียงกันเอามัน มันจะมีรายการเป็นแสนล้านบาทที่เป็นไปตามหลักตลาดที่ควรจะเป็น ถ้าภาครัฐดันบ้าจี้ไประงับตามที่เรียกร้องผิดๆ มันจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย” เนื้อหาบางส่วนของของบทความที่เขียนโดยนายบรรยง

ในขณะที่ นายปิยสวัสดิ์ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตประธานกรรมการ(บอร์ด)บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Piyasvasti Amranand”  สั้นๆพร้อมลงภาพประกอบที่เป็นโลโก้คาเฟ่ อเมซอน ของปตท. และPuff & Pie ของการบินไทย ว่า   “ถ้า ปตท. ขายกาแฟอเมซอนขัดรัฐธรรมนูญ Puff & Pie ของการบินไทยก็ขัดด้วย ยื่นฟ้องให้หมดเลยสิครับ”

ส่วนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Tevin at ease” เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 ระบุเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องดื่มคาเฟ่ อเมซอน  โดยชี้ให้เห็นว่า ว่า  การทำธุรกิจปั๊มน้ำมันและกาแฟของปตท. ภายใต้แบรนด์  คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) นั้น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นการเติมเต็ม และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จึงผลักดันแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ขึ้นมาเพื่อเป็นเพื่อนเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านแฟรนไชส์ ด้วยหลักการที่ว่า ให้เจ้าของปั๊ม หรือ ดีลเลอร์น้ำมันเป็นผู้บริหารร้านคาเฟ่ อเมซอนเอง หมายความว่า ร้านที่ ปตท.บริหารเองมีสัดส่วนน้อยมาก ที่เหลือเป็นเจ้าของแฟรนไชส์บริหารเอง โดยเป็นสัดส่วน (ปตท. ดำเนินการเอง 10 : 90 เป็นแฟรนไชส์)  ซึ่งจริงๆ แล้ว  เหมือนกับเป็นการส่งเสริมธุรกิจ SME  โดยข้อดีที่ผู้บริหารปตท.ได้พบใน ในธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ว่า สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนได้จำนวนมาก

เนื้อหาในบทความของนายเทวินทร์  ยังระบุด้วยว่า  เป้าหมายของอเมซอน คือ เป็นกาแฟของคนไทย เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกร เป็นการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจด้วย ได้รับความร่วมมือจากโครงการหลวงค่อนข้างดี ในการผลิตเมล็ดกาแฟ และ อีกส่วนยังรับซื้อจากเกษตรกรในประเทศ สร้างรายได้ให้คนมีงานทำ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการทางหู เป็นต้น เพื่อสามารถตอบโจทย์สามารถตอบแทนคืนสู่สังคม มั่นใจว่า คาเฟ่ อเมซอน แบรนด์ไทยแท้ 100%

ในขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศพลังงาน และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2561 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า  “ปตท. องค์กรโจทก์เยอะ”  ซึ่งให้ความคิดเห็นว่า GPSC ไม่เข้าข่ายเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะGPSC เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย คือ บริษัท  พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 22.73% ปตท. 22.58% และไทยออยล์ 20.79% รวมแล้วกลุ่มปตท.ถือหุ้นใน GPSC เท่ากับ 66.1% แต่ในแง่กฎหมาย ปตท.ถือหุ้นโดยตรงเพียง 22.58% ถึงแม้จะถือหุ้นทางอ้อมผ่าน PTTGC และไทยออยล์ ก็ไม่ถึง 50%  จึงไม่ถือว่า รัฐเข้ามาทำการค้าแข่งกับเอกชน

ส่วนกรณีการมีอำนาจเหนือตลาดนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,900 เมกะวัตต์​ เมื่อรวมกับ GLOW อีก 3,200 เมกะวัตต์ เป็น 5,100 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังการผลิตรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 42,694 เมกะวัตต์  จึงเป็นไปไม่ได้ที่ GPSC จะมีอำนาจเหนือตลาด

สำหรับกรณีกาแฟอเมซอนนั้น  PTTOR กำลังยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีแผนที่จะกระจายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่า 50% ดังนั้นจะไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีกเช่นกัน และย่อมไม่ถูกผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 75 ของรัฐธรรมนูญ

“ผมก็ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราจะต้องหยิบยกเหตุข้ออ้างในรัฐธรรมนูญมากีดกั้นผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี เพียงเพราะเห็นว่าปตท.เป็นองค์กรที่ใหญ่เกินไป มีกำไรมากเกินไป หรือบางคนไม่พอใจในทุกอย่างที่ปตท.ทำ”เนื้อหาส่วนหนึ่งที่ นายมนูญ เขียนลงในบทความ

Advertisment