นิวเคลียร์ SMR ทางเลือกให้ไทยศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน

1425
N4037
- Advertisment-

งานเสวนา SMR Technology for Carbon Neutrality , Security and Sustainable Energy of Thailand นำเสนอ การใช้ เทคโนโลยี SMR ซึ่งเป็นทางเลือกที่ควรมีการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามแผนภายในปี 2050 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศแสดงเจตนารมย์ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26

ดร.สัญชัย นิลสุวรรณโฆษิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความยากลำบากในการปฏิบัติตามแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality คือ การลดการใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติลงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

การใช้อีวีและไฮโดรเจนก็ต้องพัฒนาระบบเพื่อมารองรับทั้งซัพพลายเชนซึ่งต้องมีการลงทุนค่อนข้างมากและใช้เวลา การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องออกกฏระเบียบเพื่อมาบังคับ

- Advertisment -

ส่วนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และพลังงานลมซึ่งในการผลิตไฟฟ้า ก็ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและต้องมีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ที่ยังมีต้นทุนสูงส่วนไฟฟ้าที่มาจากพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ ก็ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้เพราะติดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และประเด็นไฟฟ้าจากชีวมวลก็เป็นปัญหาเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ว่าจะใช้เพาะปลูกเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในภาคพลังงานหรือเพื่อใช้เป็นอาหาร

ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ใหม่ให้สามารถจำกัดควบคุมรังสี ที่เป็นอันตรายได้ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่ประเทศไทยควรจะเลือกนำมาใช้ ในการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งในหลายประเทศในกลุ่มอียูและญี่ปุ่น ก็ลดการใช้ถ่านหินลงเพื่อจะหันมาใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยในส่วนของงานวิชาการ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านต่างๆที่มีความซับซ้อนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้

ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายของการเลือกใช้เทคโนโลยี SMR คือการที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ตลาดยังขยายตัวช้า จะทำให้ยังมีราคาแพง อีกทั้งความเชื่อมั่นในประสบการณ์ของผู้พัฒนาเทคโนโลยียังมีน้อย เนื่องจากยังไม่เคยมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์มาก่อน โดยประเทศไทยยังต้องการความรู้จากการวิจัยและพัฒนามาสนับสนุนอีกพอสมควร

ดร.ปานทิพย์ อัมพรรัตน์ จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันมีอยู่ประมาณ 50 แบบ ส่วน SMR (Small Modular Reactor) เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นที่4 โดยบริษัท NUSCALE ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งsubmit ให้หน่วยงานของสหรัฐอเมริการับรองเมื่อปี 2017 ทั้งนี้ยังต้องมีการติดตามดูเทคโนโลยีดังกล่าวอีกพอสมควร จนกว่า
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติของไทยจะให้การรับรองเทคโนโลยีดังกล่าวจึงจะมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในการใช้

งานสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในงานSETA 2022 (งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565) งาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) รวมถึงงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) ที่จัดขึ้นพร้อมกัน 3 งานระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา Hall 100-104

โดยการจัดงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดของการเติบโตทางพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่ร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมายการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) รวมถึงเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในการจัดเก็บพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี 2065-2070

นอกจากเวทีสัมมนาดังกล่าว ภายในงานจะมีการเสวนาที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ “ผ่าแผนนโยบายพลังงานชาติฉบับใหม่ กับเส้นทางเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ทั้งสี่ด้าน :ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน” ซึ่งเป็นการร่วมถกประเด็นในด้านแผนพลังงานชาติที่แรกของปี 2565 ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และผลกระทบต่อภาคประชาชนที่ทุกคนต้องจับตามอง เป็นประเด็นสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับใหม่ ทั้งสิ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การผลิตไฟฟ้าแบบปลอดคาร์บอน (Decarbonised Power Generation) (2) การเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้าในอนาคต (Fortifying and Creating a Next-Gen Power Grid) (3) การพัฒนาระบบไฟฟ้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (The Electrification of The ASEAN Economy) (4) ความผันผวนของราคาไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด (Electricity Prices Surging due to unexpected Circumstances) (5) การผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Enabling Renewable Energy to meet RE Targets) และ (6) แผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Roadmap to Net-Zero)

Advertisment