“นักสิ่งแวดล้อม” แนะปลูกป่าชายเลนลดโลกร้อนได้ดีที่สุด

2157
- Advertisment-

โลกร้อนส่งผลวิกฤติภัยแล้งในรอบ 20 ปี ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชวนปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนรวมทั้งปลูกป่าชายเลน เพราะสามารถกักเก็บคาร์บอนฯ ได้มากกว่าป่าบกในพื้นที่เท่ากัน

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าปี 2563 อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 0.5-1 องศาเซลเซียส  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยทำให้ฝนตกน้อยลง ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี ปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าปกติถึง 2-3 % ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 14 % ส่วนที่กระทบหนักที่สุดคือพื้นที่เพาะปลูกพืชในหลายจังหวัดซึ่งอาจขาดแคลนน้ำในการเกษตรกรรม ในขณะที่บางพื้นที่ซึ่งไม่ต้องการน้ำฝนมากกลับประสบปัญหาน้ำท่วม

จากการศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน  นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมีความเห็นว่าการปลูกต้นไม้เป็นหนทางแก้ไขที่สำคัญ ซึ่งถ้าช่วยกันปลูกต้นไม้ทั่วโลกจำนวน 1.2 ล้านล้านต้น จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดโลกร้อนที่มนุษย์ได้สร้างเอาไว้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้  แม้เป็นการยากที่จะปลูกต้นไม้ปริมาณมากขนาดนั้นในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ยังมีข่าวดีคือถ้ามาช่วยกันปลูกป่าชายเลนจะสามารถช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าอื่นในพื้นที่เท่ากัน และยังช่วยสะสมคาร์บอนในดินได้ยาวนานและมากกว่าป่าบกหลายเท่าตัว

- Advertisment -

ดร.สนใจ หะวานนท์ ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องป่าชายเลนในหลายประเทศมากว่า  40 ปี เผยถึงผลการวิจัยเรื่องป่าชายเลนซึ่งร่วมโครงการกับกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท คันไซ อิเลคทริค เพาเวอร์  ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2543 และได้ผลสรุปในปี 2547 ว่าถ้าเปรียบเทียบด้านการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างป่าชายเลนกับป่าบกโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนออกมา พบว่าป่าชายเลนของประเทศไทยสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหนือพื้นดินได้ 27.1 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) และสะสมในดิน 16.9 ตันต่อเฮกตาร์ รวมแล้ว 44.0 ตันต่อเฮกตาร์ ประมาณการณ์ได้ว่าป่าชายเลนของประเทศไทยประมาณ 1.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 0.24 ล้านเฮกแตร์ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี สำหรับป่าดิบชื้น International Panel on Climate Change) (IPCC) ได้ให้ข้อมูลเฉพาะการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้เหนือพื้นดินว่า โดยเฉลี่ย 20.2 ตันต่อเฮกตาร์

แต่ถ้าในส่วนของการสะสมคาร์บอนที่อยู่ในดินแล้ว  ป่าชายเลนจะมีมากกว่าป่าบกถึง 6 เท่าตัว  เนื่องจากป่าบกสะสมคาร์บอนในดินได้เพียงประมาณ 200 ตันเท่านั้น ขณะที่การศึกษาที่อ่าวท่าคา-สวี จังหวัดชุมพร ในปี 2542 พบว่าป่าชายเลนสามารถสะสมคาร์บอนฯ ที่บริเวณดินเลนลึกลงไปได้อีกถึง 1,200 ตันต่อเฮกตาร์ เนื่องจากในชั้นดินเลนมีการสะสมธาตุคาร์บอนต่าง ๆ จากการทับถมของอินทรียวัตถุทั้งหลายได้เป็นเวลานาน  และถ้าเป็นป่าชายเลนที่ปลูกเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สูงประมาณ 30เมตร จะเก็บปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นได้อีก 200 ตันต่อเฮกตาร์ นี่คือเหตุผลว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มหาศาล

ป่าชายเลนเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพรรณไม้ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพื่อไปสังเคราะห์แสงได้มากกว่าป่าบกในหน่วยพื้นที่เท่ากัน จากการวิจัยที่ปากแม่น้ำท่าจีนพบว่าไม้แต่ละสายพันธุ์จะมีคุณสมบัติดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่างกัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการเลือกพันธุ์ไม้ที่จะใช้ปลูกป่าชายเลดังนี้ ในพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าปลูกไม้แสมสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 7.49 ตันต่อปี ไม้โกงกางดูดซับคาร์บอนฯได้ปีละ 6.22 ตันต่อปี และไม้ตะบูนสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ 4.14 ตันต่อปี ซึ่งไม้โกงกางและตะบูนมีอายุยืนกว่า 100 ปี ไม้แสมอายุประมาณ 50 ปี

แต่เดิมพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยกินบริเวณทั้งชายฝั่งทะเลอันดามันและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นพื้นที่กว้าง  แต่หลายปีที่ผ่านมาป่าชายเลนถูกทำลายจากการทำนากุ้งและการบุกรุกจึงทำให้พื้นที่ป่าชายเลนของไทยลดน้อยลงไปมาก

ปัจจุบันกระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูก และอนุรักษ์ป่าชายเลนในหลายพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในท้องถิ่นหลายแห่ง ทำให้ป่าชายเลนของไทยค่อยๆ ฟื้นคืนมา แต่ก็ยังต้องการความร่วมมืออีกมากจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าปลูกป่าในสภาวะไม่เหมาะสมและไม่มีการดูแล ไม่นานต้นไม้ที่ปลูกใหม่ก็จะตาย

ตัวอย่างโครงการล่าสุดที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้หารือร่วมกับเอกชน คือ โครงการ Dow and Thailand Mangrove Alliance ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายชายฝั่งในการอนุรักษ์ป่าชายเลนร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ  องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างครบวงจรและมีส่วนร่วม โดยจะมีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนมีชีวิตในป่าชายเลนและเผยแพร่ความรู้ด้านการคัดแยกขยะเพื่อลดขยะทะเลโดยเริ่มต้นโครงการที่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง และมีแผนจะขยายไปในอีกหลายจังหวัด สิ่งที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ก็คือจะมีการส่งเสริมกลไกคาร์บอนเครดิตของป่าชายเลนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจะเปิดให้ชุมชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วยภายในปีนี้

สำหรับประชาชนทั่วไป หากต้องการช่วยกันลดโลกร้อน ขอให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุด และอย่าลืมเรื่องของการดูแลรักษา ทำอย่างไรให้ต้นไม้ได้รับน้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก เพราะเมื่อต้นไม้ที่ปลูกใหม่แห้งตายหมดก่อนที่จะแข็งแรงก็จะไม่สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และขอให้ร่วมกันสนับสนุนโครงการปลูกและอนุรักษ์ป่าชายเลนให้มากๆ เพราะเป็นป่าที่ช่วยลดโลกร้อนได้ดีที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลความรู้ และ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับป่าชายเลนในประเทศไทย สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  www.dmcr.go.th

Advertisment