นักวิชาการและภาคประชาชน ประสานเสียง เรียกร้องให้รัฐพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 51% ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุปัจจุบันลดต่ำเหลือ 32% ขณะเอกชนผลิตถึง 68% หวั่นความมั่นคงไฟฟ้าชาติในอนาคตถดถอย ชี้รัฐสูญรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า กฟผ. ลดลงจาก 51% ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกต “รัฐ” ปล่อยเอกชนผลิตไฟฟ้าสัดส่วนสูง 65% แถมประกันกำไรผ่านค่าความพร้อมจ่าย พร้อมอุดหนุนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปีละกว่า 1.28 แสนล้านบาท เป็นการเอื้อทุนใหญ่ ดันค่าไฟฟ้าแพง ผลักภาระสู่ประชาชน
วันที่ 6 พ.ย. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” โดยมีผู้เสวนา ได้แก่ นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ,นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ,
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค, รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค
โดยสาระสำคัญในการเสวนาเน้นไปในเรื่องของการที่ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง และภาครัฐมอบหมายให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าแทนมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงไฟฟ้าในอนาคตและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น นอกจากนี้ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานกิจการไฟฟ้า ที่มีบทบัญบัติให้ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51%
นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จากการตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานกิจการไฟฟ้า ที่มีบทบัญบัติให้ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% นั้น เชื่อว่า 99.99% มีการกระทำที่ขัดกับกฎหมายแน่นอน เนื่องจากปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียง 32% และภาคเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าถึง 68% (ข้อมูลเดือน ม.ค. 2565) และที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่เคยมีการหารือกันถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ว่าควรเป็นเท่าไหร่ ถือเป็นการละเลยสาระประเด็นที่สำคัญของประเทศชาติ
โดยนับตั้งแต่กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ลดต่ำกว่า 51% ส่งผลให้ประเทศชาติสูญรายได้ไปถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้ประชาชน และส่งรายได้เข้าคลังของรัฐ แต่รายได้กลับไปตกกับภาคเอกชน ดังนั้นแนวทางที่ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลงและให้เอกชนประมูลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขัดกฎหมายมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และขัดกฎหมายมาตรา 56 วรรค 4 เรื่องการดูแลผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมของของรัฐและเอกชน ซึ่งการให้สัดส่วนเอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หมายถึงความมั่นคงไฟฟ้าประเทศที่จะลดลงและค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้นจากการประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้า
นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ถ้าไม่สามารถยับยั้งภาครัฐที่จะเดินหน้าให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ ค่าไฟฟ้าประชาชนจะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน กฟผ.กำลังรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) แทนประชาชน และนี่คือ หนี้ของประชาชนเอง และในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ก็จะต้องปล่อยค่า Ft ขึ้น และระบบเศรษฐกิจทุกอย่างจะพัง ดังนั้นประชาชนต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้และ กฟผ.ก็พร้อมขับเคลื่อนไปกับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ปัจจุบัน เหลือยู่ประมาณ 28-30% จากปี 2547 อยู่ที่ 59% ขณะที่การประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft ทุก 1 สตางค์ต่อหน่วย จะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า 2,000 ล้านบาท ซึ่งค่าไฟฟ้า Ft รอบเดือน ก.ย. ปี 2565 ปรับขึ้น 93 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของประเทศ อยู่ที่ระดับ 800,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 670,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน อยู่ที่ 65% และ กฟผ.อยู่ที่กว่า 30% แสดงให้เห็นว่า เอกชน เป็นผู้ค้าไฟฟ้ารายใหญ่ ที่มูลค่าประมาณ 520,000 ล้านบาท และ กฟผ. อยู่ที่ 280,000 ล้านบาท จึงตั้งข้อสังเกตว่า เอกชนได้กินเนื้อขนาดใหญ่ในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกรณีที่รัฐ เอื้อเอกชนหรือไม่
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ค่าไฟฟ้าแพง มาจากค่า Ft เป็นหลัก เพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของค่าไฟฟ้าฐาน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย และส่วนของค่าFt ที่ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง ,การซื้อไฟฟ้า และนโยบายภาครัฐ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมหลักของประเทศไทยมาจาก ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย จึงมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯขึ้นตั้งแต่อดีต แต่รัฐบาล ก็ยังมีการกำหนดนโยบายให้นำก๊าซฯในอ่าว ไปใช้สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี เพราะก๊าซฯมีคุณสมบัติสามารถนำไปย่อยอดสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเผาไฟ ซึ่งประเด็นนี้ ก็ถือว่าเป็นการเอื้อเอกชนอย่างชัดเจน
ตลอดจน การที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้าขายให้กับรัฐโดยการประกันกำไรให้เอกชน ผ่านการให้ค่าความพร้อมจ่าย(AP) ซึ่งในปี 2565 พบว่า รัฐต้องเสียค่า AP ให้กับเอกชน ถึงไตรมาสละ 7,000 ล้านบาท รวมทั้งปี ก็จะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท
อีกทั้ง นโยบายของรัฐที่มีการอุดหนุนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอดีตรับซื้อที่ราคา 11-12 บาทต่อหน่วย แม้ปัจจุบัน จะลดลงเหลือประมาณ 3-5 บาทต่อหน่วย แต่ก็เป็นอัตราที่กำหนดให้ กฟผ.ต้องไปรับซื้อจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าราคาขายไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยรายจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าดังกล่าวในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่า AP จะมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่า 128,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผ่านไปยังค่า Ft ที่เรียกเก็บกับประชาชน ฉะนั้น นี่คือการเอื้อทุนใหญ่หรือไม่
ดังนั้น อยากตั้งคำถามว่า การจะปล่อยให้เอกชน ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูง 65 % ควรจะปล่อยให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่