นักวิชาการด้านไฟฟ้า แนะข้อควรปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยทางไฟฟ้าในอาคาร หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

282
- Advertisment-

จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูด ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา พิกัดละติจูด 21.682 องศาเหนือ และลองจิจูด 96.121 องศาตะวันออก ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งผลให้หลายพื้นที่ในแถบภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในพื้นที่อาคารสูงและเขตชุมชนเมือง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของอาคาร รวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ โดยเฉพาะ ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งถือเป็นระบบที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงหากไม่ได้รับการตรวจสอบหลังเกิดแรงสั่นสะเทือน  ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าลัดวงจร หรืออัคคีภัย ทาง ผศ.ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แนะแนวทางและข้อควรปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยทางไฟฟ้าในอาคาร หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว (Preliminary Guidelines or Practices for Electrical Safety in Buildings After an Earthquake) ดังนี้

ผศ.ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

✅ ขั้นตอนที่ 1ปิดระบบไฟฟ้าหลัก (Main Breaker)

วัตถุประสงค์ เพื่อหยุดการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่อาคาร ลดความเสี่ยงต่อไฟฟ้าลัดวงจรหรือช็อต

- Advertisment -

🔌 ปิดเมนเบรกเกอร์ทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว

🚫 ห้ามบุคคลทั่วไปเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่อาจเสียหาย

🔦 หากต้องเข้าตรวจสอบในที่มืด ให้ใช้ไฟฉายที่ปลอดภัย ห้ามใช้เปลวไฟหรืออุปกรณ์ที่เกิดประกายไฟ

✅ ขั้นตอนที่ 2ตรวจสอบสายไฟฟ้า

วัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบว่าสายไฟอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ปลอดภัยจากความเสียหายทางกายภาพ

➲ ตรวจสอบสายไฟภายนอกและภายในอาคาร ว่ามี การหลุด ฉีกขาด หรือไหม้เกรียม หรือไม่

➲ ให้ความสำคัญกับสายไฟที่ซ่อนอยู่ เช่น บนฝ้าเพดาน ใต้พื้น หรือภายในท่อร้อยสาย

✅ ขั้นตอนที่ 3ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า

วัตถุประสงค์ เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ยังปลอดภัย

➲ ตรวจสภาพ ปลั๊ก สวิตช์ เต้ารับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม โคมไฟ ตู้เย็น

➲ หากพบว่าอุปกรณ์มี กลิ่นไหม้ ควัน หรือเสียงผิดปกติ ให้หยุดใช้งานทันที

✅ ขั้นตอนที่ 4ตรวจสอบแผงควบคุมไฟฟ้า (MDB/DB)

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินสถานะของเบรกเกอร์หลัก และระบบการจ่ายไฟ

➲ เปิดฝาแผงอย่างระมัดระวังเพื่อตรวจสอบภายใน

➲ ตรวจดูว่าเบรกเกอร์มี รอยไหม้ หลวม หรือคราบเขม่าดำ หรือไม่

➲ หากพบความผิดปกติ ควรงดใช้งานทันทีและแจ้งผู้เชี่ยวชาญ

✅ ขั้นตอนที่ 5ตรวจสอบระบบสายดิน (Grounding)

วัตถุประสงค์ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสามารถระบายไฟฟ้ารั่วได้อย่างปลอดภัย

➲ ตรวจสอบว่าสายดินยังเชื่อมต่อกับโครงโลหะอย่างสมบูรณ์

➲ หากสายดินขาดหรือหลุด อาจทำให้เกิดไฟฟ้ารั่วเข้าสู่ผนังหรือโครงสร้างอาคาร ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

✅ ขั้นตอนที่ 6ห้ามใช้งานระบบไฟฟ้าก่อนตรวจสอบ

วัตถุประสงค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรืออุปกรณ์เสียหายเพิ่มเติม

➲ ห้ามเสียบปลั๊กหรือเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ

➲ การเปิดใช้งานโดยไม่ตรวจสอบ อาจก่อให้เกิด ไฟฟ้าช็อต อัคคีภัย หรือระบบล้มเหลว

✅ ขั้นตอนที่ 7ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบอย่างละเอียด

วัตถุประสงค์ เพื่อความมั่นใจว่าระบบไฟฟ้าทั้งหมดปลอดภัยก่อนกลับมาใช้งาน

➲ ควรเรียก ช่างไฟฟ้าหรือวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบรับรอง มาทำงานนี้

➲ อาคารขนาดใหญ่ควรตรวจสอบทั้งระบบโหลด แรงดัน และอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้า

✅ ขั้นตอนที่ 8บันทึกผลและแจ้งซ่อม

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สามารถแก้ไขความเสียหายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

➲ ถ่ายภาพจุดที่พบความเสียหายไว้เป็นหลักฐาน

➲ แจ้งฝ่ายอาคารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการซ่อมแซมอย่างเป็นระบบ

🚫 ข้อควรระวัง

♦ ห้ามใช้น้ำในการดับเพลิงที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ควรใช้ถังดับเพลิงชนิด C

♦ ห้ามสัมผัสสายไฟที่ตกพื้น หรืออยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง

♦ ห้ามให้บุคคลที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีใบอนุญาตดำเนินการตรวจสอบหรือซ่อมแซมระบบไฟฟ้า

Advertisment