นักวิชาการชี้ใช้ดีเซลB20ไม่เพียงพอลดฝุ่นPM2.5แต่กลับปล่อยสารอันตรายชนิดอื่นเพิ่ม

2902
- Advertisment-

นักวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี ลาดกระบัง ชี้ การใช้ไบโอดีเซล B20 เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการลดปริมาณฝุ่น PM2.5ได้จริง โดยงานวิจัยพบค่าPMลดแต่สารอันตรายชนิดอื่นเช่น ไนโตรเจนออกไซค์(NOX) ไฮโดรคาร์บอน (HC) และ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะกลายเป็นPM2.5ในภายหลัง

ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ให้ความเห็นทางวิชาการว่า ในอดีตได้มีการศึกษาถึงการปลดปล่อยสารอันตรายจากการใช้น้ำมันไบโอดีเซลสัดส่วนต่างๆ เทียบกับน้ำมันดีเซล EURO 4 ซึ่งเป็นน้ำมันแบบเดียวกับที่ใช้ในประเทศไทย โดยมีการทดสอบในรถยนต์อายุ 1 ปีจนถึง 5 ปี ผลการทดสอบพบว่าปริมาณ PM จากการใช้น้ำมันไบโอดีเซลลดลงจริง แต่สารอันตรายชนิดอื่นเช่น ไนโตรเจนออกไซค์(NOX) ไฮโดรคาร์บอน (HC) และ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง NOX ที่เกิดขึ้นจะสามารถทำปฏิกิริยาต่อไปและเกิดเป็น PM2.5 กับ โอโซนในภายหลัง ซึ่งสารอันตรายเหล่านี้เกิดจากกระบวนการสันดาปภายในเครื่องยนต์ดีเซล ที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์ และปล่อยออกเป็นไอเสีย

ดังนั้นภาครัฐควรจะมีการควบคุมและกวดขันในการตรวจสภาพรถ ซึ่งรถที่มีการอุดตันของกรองไอเสีย ควรเปลี่ยน และไม่ควรตัดชุด catalytic converter หรือที่ช่างมักเรียกกันว่าท่อแคทออกอย่างเด็ดขาด ซึ่งท่อแคทมีราคาสูงทำให้ในอดีตมักมีความเชื่อว่า ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่แต่สามารถตัดออกได้เมื่อมีการอุดตัน จึงทำให้ไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ออกสู่บรรยากาศโดยตรง

- Advertisment -

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นPM2.5ที่มักเกิดในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น และมีตึกสูง นั้นเนื่องจากการไหลเวียนของอากาศถูกกักและเกิดเป็นจุดอับลม จากการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Imperial College London พบว่าตึกสูงมีผลต่อการไหลของลม ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดปัญหาทางด้านมลภาวะทางอากาศ เพราะลมไม่สามารถพัดผ่านตึกเหล่านี้ได้ ทำให้หลายบริเวณ ในเมืองใหญ่ กลายเป็นจุดที่อับลม ทำให้ฝุ่นที่เกิดขึ้นไม่ถูกลมพัดออกไปและเกิดปรากฏการณ์หมอกควันอย่างที่กรุงเทพกำลังเผชิญอยู่

ทางออกในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังมองว่า เฉพาะหน้าควรจะห้ามรถควันดำไม่ให้วิ่งเข้ามาในเขตเมืองอย่างจริงจัง   การรณรงค์ให้ประชาชนผู้ใช้รถดูแลรักษาความสะอาดเครื่องยนต์ ด้วยการหมั่นตรวจเช็คระยะ การเปลี่ยนกรองไอเสีย การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อความสะดวกในการใช้ของประชาชนและทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหารถติด หรือการจราจรที่แออัด อันเป็นแหล่งที่มาสำคัญของฝุ่น PM 2.5 การส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง การควบคุมการก่อสร้างอาคารตึกสูงที่คำนึง ถึงทิศทางลม เป็นต้น

Advertisment