ปตท. โดยทีม “โครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น” หรือ PRISM จัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 15 แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เร่งปรับตัวรับเทรนด์โลกมุ่งสู่ความยั่งยืน ด้านกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตอาจชะลอตัว ห่วงเศรษฐกิจไทยระยะยาว จับตานโยบายรัฐบาลหลังตั้งนายกฯ ใหม่ อาจมีมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
วันที่ 16 ส.ค. 2567 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยโครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น (PRISM) ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ 15th PTT Group Petrochemical Outlook Forum : ภายใต้หัวข้อ “Shaping the Future of Petrochemicals Along the Sustainable Pathway” เพื่อเผยแพร่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มปิโตรเคมีและโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต โดยมี นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และทีมงาน PRISM ร่วมบรรยาย
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยระยะสั้นคาดว่ายังเติบโตได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ในอนาคตมีแนวโน้มจะลดลง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งหารายได้จากส่วนอื่นๆ มาช่วย พร้อมกันนี้ต้องรอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ว่าจะมีอะไรมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง ส่วนเศรษฐกิจไทยระยะยาวยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งเห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว และภาคธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ กระทบเศรษฐกิจโดยรวมได้
ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดคือ สหรัฐฯ และจีน ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ 2.5% ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่ในปี 2568 มีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 2% โดยปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจโดยตรง ขณะที่ประเทศจีนก็เร่งผลิตสินค้าและส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ส่งผลให้เกิดปัญหาสินค้าจีนทุบตลาดสินค้าแต่ละประเทศ จนนำมาสู่มาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าตอบโต้
ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยตรง เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การผลิตสินค้ามีมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าล้นตลาดได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายของภาคปิโตรเคมีที่จะเกิดขึ้นต่อไป
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดสัมมนาฯของ PRISM ครั้งนี้ เป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ซึ่งหากมองไปอีก 15 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2573 ซึ่งเป็นจังหวะที่สอดคล้องกับหมุดหมายที่หลายประเทศคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันสูงสุด (peak oil) จะเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เช่น เกิดการลดใช้น้ำมันลงในบางประเทศ อย่างประเทศในชาติตะวันตก แต่ในส่วนของฝั่งเอเชียยังมีการใช้อยู่ ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มตลาดปิโตรเคมีใน 15 ปีข้างหน้า ถือเป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่การลงทุนเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมากและต้องเตรียมพร้อมในระยะยาว ฉะนั้น การประเมินปัจจัยต่างๆที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทิศทางตลาดปิโตรเคมีในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาปัจจัยต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจและปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์
ด้าน ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) ได้ประเมินทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเริ่มจากตลาดโพลิเอทิลีน(PE) โดยคาดว่าความต้องการใช้จะยังเติบโตเฉลี่ย 3% ไปจนถึงปี 2572 แต่จะได้รับแรงกดดันจากกำลังผลิตที่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปี 2570-2571 โดยเฉพาะกำลังผลิตจากจีน ส่งผลให้ราคาโพลิเอทิลีน จะยังอยู่ในระดับทรงตัว แม้ว่าดีมานด์จะเติบโตแต่ยังมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องปรับตัวโดยการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
ด้านตลาดโพลิโพรพิลีน(PP) ประเมินว่า จะยังเติบโตได้ในระดับเฉลี่ย 3% ต่อปี เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในช่วงปี 2567- 2572 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด)ของโพลิโพรพิลีน (PP) กับแนฟทา ในช่วง 5 ปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน ขณะที่ในปี 2572 ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะเติบโตประมาณ 10-12% ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้รับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หันเข้าหานวัตกรรมเพิ่มการผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเรื่องของรีไซเคิล พร้อมจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างการแข่งขันไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ
ส่วนตลาดอะโรเมติกส์ (พาราไซลีน (PX),เบนซีน(BZ)) ประเมินว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางของดีมานด์ที่จะเติบโตตาม GDP ขณะที่ซัพพลายใหม่ไม่ได้มีเข้ามาเพิ่มเติมมากนัก แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตยังต้องปรับตัวตามทิศทางของตลาด และเพิ่มเรื่องของการรีไซเคิลให้มากขึ้น
ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Styrenic) ประเมินว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะยังเติบโตเฉลี่ย 5% ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเร็วขึ้น ภายใน 2-3 ปี จากอดีตจะปรับเปลี่ยนภายใน 3-5 ปี ส่งผลให้พลาสติกชนิดโพลีสไตรีน (PS) และ ABS จะมีดีมานด์เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ซัพพลายใหม่ไม่เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเหมือนก่อน ฉะนั้นคาดว่าธุรกิจ Styrenic จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตจะต้องปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมุ่งสู่เรื่องของความยั่งยืนให้มากขึ้น
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า เทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2566 และเห็นได้ชัดเจนในปี 2566 ที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) แทนรถยนต์สันดาป โดยมีการใช้สูงถึง 14 ล้านคัน เติบโตขึ้น 35% จากปีก่อน และจีนเป็นประเทศที่มีการใช้มากที่สุด อยู่ที่ 8.1 ล้านคัน ขณะที่ไทยมีการใช้ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 76,000 คัน เติบโตขึ้น 600% และนอร์เวย์ เป็นประเทศแรกในยุโรป ที่ประกาศว่า ในปี 2568 รถที่ใช้ในประเทศจะต้องเป็น EV 100% ซึ่งการที่นอร์เวย์ จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมรถ EV ในไทย ระยะแรกจะเป็นลักษณะของ OEM และในปี 2567 นี้ จะเป็นปีแรกที่เห็นการประกอบรถ EV ในไทย ขณะที่การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ณ เดือน มิ.ย.2567 มีอยู่ประมาณ 10,846 หัวจ่าย จาก 3,125 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อประเมินความเหมาะสมของจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าต่อการใช้งานของรถEV เพื่อปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมต่อไป
คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กำลังเผชิญกับความท้าทายนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะเดียวกันก็มองว่า ตลาดฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ “อินเดีย” เป็นประเทศเป้าหมายที่ “รัฐบาลใหม่” ควรให้ความสำคัญและทำอย่างไรก็ได้เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้ได้ เนื่องจากอินเดียมีจำนวนประชากรมากและในอนาคตจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยในอนาคตได้