ทช.รับมอบ 7 ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จากเชฟรอน หลังจัดวางเป็นปะการังเทียม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม ระบบนิเวศทางทะเล และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย สำหรับการต่อยอดโครงการในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดพิธีรับมอบ 7 ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ที่นำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารระดับสูงของกรม ทช. ร่วมในพิธี ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ทั้งนี้ภายใต้โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น จัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นได้ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เริ่มตั้งแต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ให้ความเห็นชอบในการรื้อถอนและโอนย้ายขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียม และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง ซึ่งอนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการจัดวางปะการังเทียม ตลอดจนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งได้ให้ความสนใจและติดตามการทำงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง
โดยเชฟรอนได้เริ่มดำเนินการวางขาแท่นแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และได้วางขาแท่นสุดท้าย คือขาแท่นที่ 7 ไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาและได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้เชี่ยวชาญการสำรวจทางทะเลเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 จึงได้จัดพิธีส่งมอบให้ ทช. เป็นผู้ดูแลพื้นที่โครงการ เพื่อกำหนดแผนการติดตามผลการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการภายหลังการวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมต่อไป
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้ง ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่หลายครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายมีผู้เข้าร่วมกว่าพันคนซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินการ และ ทช. ก็ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2561 และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ทช. เชฟรอนประเทศไทย และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้กรมได้มีการติดตามในขั้นตอนของการจัดวางขาแท่นแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และขาแท่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
โดยหลังจากนี้ ทช.จะกำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine protected area) ที่ระยะสั้นใน 1 ปีแรกจะห้ามไม่ให้มีการล่วงล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่ที่มีการจัดวาง เพื่อให้ประการังและสิ่งเกาะติดบนพื้นผิวของขาแท่น ที่ติดอยู่เดิมมีเวลาในการฟื้นตัว จากนั้นจึงจะมีการกำหนดมาตรการการบริหารจัดการพื้นที่ว่ากิจกรรมใดสามารถดำเนินการได้ และกิจกรรมใดที่ห้ามดำเนินการ รวมทั้งแนวทางการติดตามและศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการใช้ขาแท่นปิโตรเลียมในการจัดวางเป็นปะการังเทียมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศทางทะเล เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบายการต่อยอดโครงการในอนาคต และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อไป
นายโสภณ กล่าวด้วยว่า ต้องขอบคุณบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำในด้านการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญและความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ดีมาโดยตลอด และเชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศให้คงความสมบูรณ์ ยั่งยืน เช่นนี้ต่อไป
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับ ทช. ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณโครงการฯ ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย มาถ่ายทอดความรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ เชื่อมั่นว่าโครงการศึกษานำร่องนี้จะสร้างองค์ความรู้ที่มีค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยปะการังเทียมจากขาแท่น ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการดำเนินงานในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนได้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล
นายไพโรจน์ กล่าวต่อด้วยว่า ผมต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนให้โครงการฯ เกิดขึ้นได้ เริ่มจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการอนุมัติอนุญาต ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง ตลอดจนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ติดตามการดำเนินงาน รวมถึงภาควิชาการ ได้แก่ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการทางทะเล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะใช้เวลาในการติดตามและประเมินผลโครงการประมาณ 2 ปี โดยจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากออสเตรเลีย มาร่วมศึกษาด้วย และทางจุฬาลงกรณ์เองได้จัดตั้งทีมที่ดูแลทั้งเรื่องระบบนิเวศทางทะเล โครงสร้างและการเคลื่อนตัว รวมถึงประโยชน์กับกลุ่มผู้ใช้ต่าง ๆ โดยทำงานกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนกำกับงานร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีความเป็นกลางมากขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่ได้ ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายต่อไปได้ว่า การนำเอาขาแท่นปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียมนั้นสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในมิติต่างๆ อย่างไร เปรียบเทียบกับการให้รื้อถอนเพื่อไปบริหารจัดการบนฝั่ง