โครงการเมกะโปรเจ็กต์ LNG และโรงไฟฟ้า ที่ภาคใต้ของTPIPP ที่จับมือเป็นพันธมิตรกับ Korea Gas Corporation และ Korea Western Power ยังไม่ง่ายที่จะผลักดันให้สำเร็จหากโครงการโรงไฟฟ้าไม่ถูกบรรจุไว้ในแผนPDPและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.
แม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ทางผู้บริหารของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งนำโดย นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง MOUกับผู้แทนของ บริษัท Korea Gas Corporation และ บริษัท Korea Western Power เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และ LNG Terminal ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอ จะนะ จังหวัด สงขลา แล้วก็ตาม แต่นั่นก็ถือเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน ที่ต้องรับภาระความเสี่ยงทางธุรกิจกันเอง เพราะกระทรวงพลังงานยังไม่มีแนวคิดที่จะนำโครงการบรรจุไว้ในแผนPDP2022 ที่จะมีการดำเนินการจัดทำภายในปีนี้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า การเดินหน้าโครงการดังกล่าว ยังต้องรอ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ที่จะมีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีการให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านี้โดยระบุถึงการจะเสนอให้ยุติการดำเนินโครงการเอาไว้ชั่วคราว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้ผ่านความเห็นจากทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามที่ ครม.เคยมีมติ
ในขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นตามที่ข่าวระบุว่าโครงการเมืองต้นแบบจะนะ ที่ ทาง TPIPP กำหนดแผนลงทุนระดับแสนล้านเพื่อยกระดับอำเภอจะนะเป็นสมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่กระจายสู่อาเซียน เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่จะมีทั้ง อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, เมืองอัจฉริยะ, ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้า ตลอดจนศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดนั้น หากเป็นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงและเป็นการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ แต่หากในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีลูกค้าในนิคมฯและผู้พัฒนาต้องการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ( Power Perchase Agreement –PPA)กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) เพื่อขายไฟฟ้าให้เข้าระบบก่อน ก็จะต้องผลักดันให้มีการบรรจุโครงการดังกล่าวไว้ภายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2022 ที่อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
อย่างไรก็ตามในแผนPDP2018ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 ซึ่งเป็นแผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และ กฟผ.ต้องดำเนินการลงทุนตามแผนดังกล่าว ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีที่ใช้LNG เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์สำหรับเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้เอาไว้แล้ว โดยมีกำหนดจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2570 และ 2572 โดยหากรัฐมีนโยบายที่จะให้เอกชนรายใหม่ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็จะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ประชาชนจะต้องเป็นผู้รับภาระ