ถอดรหัสยุทธศาสตร์ Trusted OERC ของ “ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” เลขาธิการสำนักงาน กกพ. คนใหม่ เดินหน้านำพาองค์กรปรับตัวในยุค Energy Transition ให้เป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของคนในสังคม
ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่ทั่วโลกกำลังลดบทบาทของพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด เพราะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานของไทยต้องปรับตัวกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในบทบาทของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานคนใหม่ “ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งว่าเขาจะสามารถกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรม ระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนได้อย่างไร บนเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับ ดร.พูลพัฒน์ ในวันที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชนสายพลังงาน เมื่อเร็วๆนี้ ได้เห็นถึงความตั้งใจ และเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ในการนำพาสำนักงาน กกพ. ให้เป็นองค์กรที่สังคมจะมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นว่าจะทำได้อย่างไร
โดย ดร.พูลพัฒน์ ซึ่งทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วย ได้บอกว่าตัวเขามีเป้าหมายที่จะกำกับดูแลค่าไฟฟ้าของประเทศให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และดูแลราคาพลังงานให้กระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนคนไทยให้น้อยที่สุด เพราะว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
“ยุค Energy Transition เป็นผลมาจากความต้องการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ภาคเศรษฐกิจและภาคพลังงานของไทยต้องการการปรับตัวขนานใหญ่ สำนักงาน กกพ. จึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลการเปลี่ยนผ่านให้มีความราบรื่น สมดุล เป็นธรรมให้มากที่สุด” ดร.พูลพัฒน์ กล่าวย้ำ
พร้อมเล่าขยายความด้วยว่า “วันนี้ ในโลกกำลังคุยกันอยู่สองเรื่องหลักคือ Go Green และ Go Digital ภาคธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน เราต้องเตรียมความพร้อมในโอกาสสำคัญของจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ ไม่ปล่อยผ่านโอกาสของภาคอุตสาหกรรมการลงทุนมีพลังงานสีเขียวรองรับความต้องการ ซึ่งพลังงานสีเขียวมีข้อดี แต่ก็มีบางส่วนที่สวนทางกับเป้าหมายของการบริหารจัดการภาคพลังงานที่ต้องการความมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ที่สำคัญคือ ต้องมีระดับราคาที่รับได้ด้วย สำนักงาน กกพ. ต้องเข้ามาดูแลให้เกิดความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่าน”
สำหรับวิสัยทัศน์ในการนำพาสำนักงาน กกพ. ให้เป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมนั้น จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน โดย ดร. พูลพัฒน์ อธิบายว่าประกอบด้วย 1. Trusted Regulation สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ. เป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน
2. Trusted Research & Innovation ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงานกับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย
3. Trusted Management มุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้ตอบสนองต่อการรองรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า
4. Trusted Engagement สร้างการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ต้องติดตามยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านนี้ว่า ในช่วงการดำรงตำแหน่ง ของ ดร.พูลพัฒน์ นั้นจะสามารถสร้างความร่วมมือกับคนในองค์กรและแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
ในช่วงท้ายของการพบปะกับสื่อมวลชน ดร.พูลพัฒน์ ได้เล่าถึงความท้าทายของภาคพลังงานไทยในระยะต่อไปคือ การสร้างความสมดุล ความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ทั้งในภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ประเทศ และช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมภาคเอกชน สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาดอย่างมีผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งยังมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อต้นทุน ระดับราคาพลังงานของประเทศด้วย
นอกจากนี้ยังมองว่า กลไกและการแข่งขันในภาคพลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะนำมาซึ่งการกระจายผลประโยชน์จากการแข่งขันไปสู่ประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเป็นธรรม สำนักงาน กกพ. จึงต้องดูแลความเหมาะสมในการบริหารจัดการสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนให้สอดคล้องตามนโยบาย รวมทั้งการเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานตามช่วงเวลาที่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย
โดยย้ำว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีความจำเป็นในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการรักษาความมีเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้า แต่การบริหารจัดการจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนปริมาณของพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางสำนักงาน กกพ. จึงวางแนวทางในการกำกับดูแลภาคพลังงาน โดยคำนึงถึงทั้งคุณภาพไฟฟ้าที่ดีในระดับราคาที่ยอมรับได้ ควบคู่กับการสร้างการยอมรับในการกำกับกิจการพลังงานและทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งภาคเศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สำนักงาน กกพ. เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
–