คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม กลุ่มย่อย ถกเรื่องปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น ยังไม่ได้ข้อยุติ เตรียมส่งตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนฝ่ายละ3 คนลงลึกข้อมูลทางเทคนิค ก่อนนัดหารืออีกครั้ง 13ธ.ค.นี้ โดยตัวแทนภาคประชาชนกดดันเปลี่ยนสูตรอ้างอิง จากที่อิงราคานำเข้า มาเป็นราคาส่งออก เชื่อราคาน้ำมันลดลงได้อีก 1.50 บาทต่อลิตร
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน และในฐานะตัวแทนคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุม”คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม” ครั้งที่ 2 ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานว่า คณะทำงานย่อย จากคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ได้ประชุมหารือร่วมกับตัวแทนโรงกลั่นน้ำมัน เกี่ยวกับการพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เกณฑ์การอ้างอิงสูตรราคาน้ำมันนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์รวมค่าพรีเมี่ยม(Import Parity)เหมาะสมหรือไม่ 2.ถ้าไม่ใช้สูตรราคานำเข้าจากสิงคโปร์ จะมีสูตรอื่นหรือไม่ และ 3.หรือยกเลิกราคาอ้างอิงน้ำมันตลาดสิงคโปร์จะมีผลอย่างไร
เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด แต่จะกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค. 2562 นี้ ซึ่งในวันดังกล่าวจะเพิ่มเติมการหารือเกี่ยวกับค่าพรีเมียมซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นด้วย โดยคาดว่านายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเป็นประธานการประชุม และน่าจะได้ข้อสรุปในบางประเด็น ส่วนจะปรับลดราคาน้ำมันเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมและได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนและอาจปรับลดราคาก่อนหรือหลังปีใหม่ก็สามารถทำได้
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้แทนคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ในส่วนของภาคประชาชน กล่าวว่า จากข้อมูลของภาคประชาชนพบว่า ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดิบ และ 2.ราคาพรีเมี่ยม(Premium) ประกอบด้วย ค่าขนส่งน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์มายังไทย, ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง,ค่าเสียเวลาเรือ,ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน,ค่าใช้จ่ายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง และค่าบริการอื่นๆ ซึ่งในส่วนค่าพรีเมียมคาดว่าจะสามารถลดลงได้ ดังนั้นในที่ประชุมครั้งนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะให้ภาครัฐและภาคประชาชนส่งตัวแทนฝ่ายละ 3 คน เพื่อมาดูข้อมูลค่าพรีเมี่ยมของโรงกลั่น แต่ห้ามนำมาเปิดเผย จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมวันที่ 13 ธ.ค. 2562 นี้
นายรุ่งชัย จันทสิงห์ คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ในส่วนของภาคประชาชน กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าราคาน้ำมันสามารถลดลงได้ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากเมื่อเดือนพ.ย. 2562 สิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันเบนซินเป็นมาตรฐานยุโรป 4 (ยูโร4) จากเดิมเป็นมาตรฐานยุโรป 3 (ยูโร3) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับไทยแล้ว ดังนั้นโรงกลั่นจึงไม่ควรคิดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินอีก 2.ส่วนค่าพรีเมี่ยมอื่นๆ น่าจะปรับลดลงได้อีก 10-15 สตางค์ต่อลิตร และ 3.หากปรับเปลี่ยนสูตรราคาอ้างอิงน้ำมันนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์และอ้างอิงราคาที่ไทยส่งออกน้ำมันแทน น่าจะลดราคาน้ำมันลงได้ 1 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ข้อมูลปี 2561 ไทยมีการส่งออกน้ำมันรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยวิธี Import Parity เนื่องจากน้ำมันดิบที่ใช้ในการกลั่นของไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง ซึ่งขนส่งผ่านประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้หากเทียบค่าขนส่งจากตะวันออกกลางมายังไทยจะสูงกว่าค่าขนส่งจากตะวันออกกลางมายังสิงคโปร์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย จึงใช้ราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์บวกค่าดำเนินการในการนำเข้า(ค่าพรีเมี่ยม) นอกจากนี้วิธี Import Parity ยัง เป็นการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของน้ำมันในประเทศ โดยในกรณีที่โรงกลั่นเกิดการปิดซ่อมบำรุง หรือภาวะฉุกเฉิน ผู้ค้าสามารถนำเข้าน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์มาใช้ได้